NEWS UPDATE • RESEARCH

สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร ตอบโจทย์ Zero Waste และ BCG Economy

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า BCG Model เป็นรูปแบบที่ดีในการยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสาขาเกษตรและอาหารเป็นตัวชูโรง ด้วยจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเทรนด์รักสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร อันจะเป็นตัวเร่งให้ไทยต้องยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้นตามเทรนด์โลก อย่างไรก็ดี คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการยกระดับการผลิตเกษตรต้นน้ำตามกรอบ BCG ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรมากกว่า 5 ปีนับจากนี้ เพราะยังคงมีเงื่อนไขและความท้าทายที่หลากหลายรออยู่อีกมาก ทั้งในแง่ของความพร้อมของตัวผู้ผลิตเอง และเครื่องมือ AgriTech ที่ใช้


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนับเป็นแนวทางที่ดีตอบโจทย์Zero Waste โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพจากเปลือกทุเรียนที่คาดว่าน่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 3,600-7,300 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถเก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนได้ราวร้อยละ 5-10 ของเปลือกทุเรียนทั้งหมดในไทย แต่ประเด็นความท้าทายคงอยู่ที่การรวบรวมของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่อาจต้องมีการออกแบบระบบรวบรวม ขนส่ง และจัดเก็บให้สามารถคงสภาพในการนำมาแปรรูปได้ รวมถึงความท้าทายของราคาพลาสติกชีวภาพที่ยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพให้ยังกระจุกตัวอยู่ในผู้บริโภคบางกลุ่ม

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) นับเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างหันมาตระหนักมากขึ้น ภาครัฐจึงมีโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่และยกเป็นวาระแห่งชาติในปี 2564 ภายใต้ชื่อ BCG Economy ที่ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (B-Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (G-Green Economy) ถือเป็น New Growth Engine ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมกับการแก้ป้ญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนบนฐานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจตามมาอีกมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า BCG Model เป็นรูปแบบที่ดีในการยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสาขาเกษตรและอาหารเป็นตัวชูโรง  ด้วยจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-Based) ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในหลากหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเทรนด์รักสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร อันจะเป็นตัวเร่งให้ไทยต้องยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้นตามเทรนด์โลก บนฐานการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) นอกจากนี้ ยังสะท้อนได้จากเป้าหมาย  GDP ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่มีน้ำหนักมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60  รวมถึงกิจการด้านเกษตรและแปรรูปอาหารยังเป็นประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 53 





อย่างไรก็ดี การจะทำให้ BCG สาขาเกษตรและอาหารสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรมากกว่า 5 ปีนับจากนี้ ท่ามกลางภาวะที่อุปสงค์สินค้าเกษตรและอาหารขยายตัวได้ดีตามเทรนด์โลก แต่ในฝั่งของอุปทานการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำยังคงต้องเผชิญเงื่อนไขและความท้าทายที่หลากหลาย เช่น ราคาขายสินค้าเกษตรในกลุ่ม Commodity มักมีความผันผวนจึงอาจไม่จูงใจในการขยายการผลิต ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการลงทุนใน AgriTech และมาตรฐานสินค้าเกษตร กลุ่มผู้ใช้ AgriTech ยังไม่เป็นวงกว้างจากความไม่พร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยี การรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่และพื้นที่เกษตรอินทรีย์ยังทำได้น้อย การใช้ปุ๋ย/สารเคมียังอยู่ในระดับสูง เป็นต้น   


สำหรับภาคการผลิตตามกรอบ BCG เกษตรในส่วนของต้นน้ำ พบว่า สินค้าเกษตรที่ไทยผลิตได้มีของเหลือทิ้งทางการเกษตรมากถึง 43 ล้านตันต่อปีและเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควรเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ เช่น รำ/แกลบ เปลือกผลไม้ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด หรือ Zero Waste จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular) ตามกรอบ BCG Model ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญและขาดไม่ได้ในยุคที่โลกมุ่งหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติขาดแคลนทรัพยากร ตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่มองมาที่ไทยกลับมีตัวเลขการสร้างขยะพลาสติกต่อประชากรในสัดส่วนที่สูงราว 69.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คิดเป็นอันดับ 5 ของโลก  ดังนั้น แนวทางการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนับเป็นแนวทางที่ดีตอบโจทย์ Zero Waste โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่า 11-63 เท่าเมื่อเทียบกับการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรไปทิ้ง/ทำลาย หรือนำไปขายเป็นเพียงปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ หรือถ่าน อีกทั้งยังสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริมตาม S-Curve และเป้าหมายที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 อีกด้วย 

 



 

ด้วยแนวโน้มความต้องการผลไม้ที่มีทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นตัวเร่งให้มีการเพิ่มการผลิตผลไม้ ซึ่งทุเรียนนับเป็นผลไม้เศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี ดังนั้น ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการนำเปลือกทุเรียนมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า พลาสติกชีวภาพจากเปลือกทุเรียนน่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 3,600-7,300 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานที่สามารถเก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนได้ราวร้อยละ 5-10 ของเปลือกทุเรียนทั้งหมดในไทย บนฐานข้อมูลปัจจุบันของผลผลิตทุเรียนและราคาพลาสติกชีวภาพ จึงนับเป็นธุรกิจที่น่าสนใจตามแนวโน้มการเติบโตที่ดีของพลาสติกชีวภาพ  ที่มีรองรับโดยเฉพาะในตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นลักษณะการใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) แต่หากมองในฝั่งของอุปทานการผลิต แม้คาดว่า ปริมาณผลผลิตทุเรียนของไทยจะเร่งตัวขึ้นตามปริมาณฝนที่ดีและความต้องการที่มีรองรับในต่างประเทศโดยเฉพาะจีน แต่เนื่องจากผลผลิตทุเรียนส่วนใหญ่ของไทยจะส่งออกในรูปผลสดกว่าร้อยละ 80 ทำให้เปลือกทุเรียนที่มีเหลืออยู่ในประเทศอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในบางช่วงจังหวะเวลาได้

            

นอกจากนี้ ในแง่ของภาพรวมการรวบรวมของเหลือทิ้งทางการเกษตรน่าจะเป็นประเด็นท้าทายสำคัญ เนื่องจากของเหลือทิ้งทางการเกษตรมีลักษณะกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ และยังขาดระบบการรวบรวมที่ดี ซึ่งคงต้องมีการออกแบบระบบรวบรวม ขนส่ง และจัดเก็บให้สามารถคงสภาพในการนำมาแปรรูปต่อได้ ขณะที่ในฝั่งของผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพของไทย ยังคงมีความท้าทายในด้านราคาของพลาสติกชีวภาพที่สูงกว่าพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีถึง 2-3 เท่า 


รวมถึงความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ดังนั้น แนวทางในการกระตุ้นอุปสงค์การใช้พลาสติกชีวภาพในประเทศให้เป็นวงกว้างมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านราคาในระยะเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การประหยัดต่อขนาด ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในฝั่งของอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพจากของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะทำให้พลาสติกชีวภาพของไทยเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตามกรอบ BCG Model จนอาจกลายเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้ในอนาคต


สรุป โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ภายใต้ชื่อ BCG Model นับเป็น New Growth Engine ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นตัวชูโรง จากอุปสงค์ที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศตามเทรนด์สุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ในฝั่งของอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายและยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ทั้งในแง่ของความพร้อมของตัวผู้ผลิตสินค้าเกษตรเอง และเครื่องมือ AgriTech ที่ใช้ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่น่าจะมากกว่า 5 ปีในการยกระดับการผลิตเกษตรต้นน้ำให้เป็นไปตามกรอบ BCG อย่างเป็นรูปธรรม 


และหากมองต่อไปในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำที่จะก่อให้เกิดของเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำให้คำว่า Zero Waste จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกรอบของ BCG ที่น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ตลอดซัพพลายเชน เช่น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นจากการจ้างคนรวบรวมของเหลือทิ้งทางการเกษตรและรายได้จากการขนส่ง อีกทั้งยังช่วยลดการฝังกลบ/เผาของเหลือทิ้งทางการเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก 


นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตได้ดีจากตัวเร่งอย่างโควิด-19 แต่ในระยะข้างหน้า ของเหลือทิ้งทางการเกษตรยังมีโอกาสทางธุรกิจที่จะเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงได้ไม่ยากนัก เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์  อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น