NEWS UPDATE • ECONOMIC

ผลวิจัยชี้ยา "มาซิทินิบ" อาจมีประสิทธิภาพรักษาโควิด-19 ได้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์โมเลกุลพริตซ์เกอร์และห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐพบว่า ยามาซิทินิบ (Masitinib) อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19

นักวิจัยเริ่มต้นด้วยการคัดกรองคลังยาต้านโอซี43 (OC43) ที่มีความปลอดภัยทางคลินิก 1,900 ตัว จากนั้นนำยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 30 ตัว ไปทดสอบเพาะเลี้ยงเซลล์ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนจะส่งยาเหล่านี้ไปทดสอบกับโปรตีเอส3ซีแอล (3CL) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เชื้อไวรัสใช้ในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนภายในเซลล์

นักวิจัยพบว่า จากยาทั้ง 30 ตัวข้างต้น ยามาซิทินิบสามารถยับยั้งเอนไซม์ไวรัส 3CL ภายในเซลล์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยสามารถจับกับตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงของโปรตีเอส 3CL โดยเฉพาะ และยับยั้งการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสได้

ต่อมานักวิจัยนำยามาซิทินิบไปทดสอบกับหนู และพบว่าช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงได้มากกว่า 99% และยังช่วยลดระดับไซโตไคน์อักเสบ (inflammatory cytokine) ในหนูได้ด้วย

ขณะเดียวกันนักวิจัยยังเริ่มทดสอบยามาซิทินิบในการเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อต่อต้านไวรัสชนิดอื่นๆ และพบว่ายามีประสิทธิภาพต่อต้านพิโคร์นาไวรัส (picornaviruses) ซึ่งรวมถึงไวรัสตับอักเสบเอ, โปลิโอ และไรโนไวรัส (rhinoviruses) ที่ก่อให้เกิดไข้หวัดได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นักวิจัยยังทดสอบยามาซิทินิบในการเพาะเลี้ยงเซลล์กับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา, เบตา และแกมมา และพบว่าตัวยาทำงานได้ดีพอๆ กัน เนื่องจากสามารถจับกับโปรตีเอส ไม่ใช่จับกับพื้นผิวของเชื้อไวรัส

นักวิจัยกำลังทำงานร่วมกับบริษัทเภสัชภัณฑ์ที่พัฒนายามาซิทินิบ เพื่อปรับแต่งตัวยาให้เป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และอาจนำไปทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ในอนาคตเพื่อทดสอบว่าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

"ยามาซิทินิบมีศักยภาพจะเป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพในตอนนี้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งแรก และคุณสมบัติต้านไวรัสของยาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด" เนอร์ เดรย์แมน นักวิจัยดุษฎีบัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยากล่าว "นี่ไม่ใช่การระบาดครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากวัคซีนแล้ว เราจำเป็นต้องค้นหาวิธีรักษาใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ"

แม้จะได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาเนื้องอกผิวหนังในสุนัขเท่านั้น แต่ยามาซิทินิบเคยผ่านการทดลองทางคลินิกในมนุษย์สำหรับโรคต่างๆ อาทิ โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา, โรคอัลไซเมอร์, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคหอบหืด โดยพบว่ายาตัวนี้มีความปลอดภัยในมนุษย์ แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ทั้งความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารและอาการบวมน้ำ รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางวารสารไซเอนส์ (Science) เมื่อวันอังคาร (20 ก.ค.) ที่ผ่านมา