NEWS UPDATE • CAPITAL MARKETS

เอเซีย พลัส หวั่นใช้ "อู่ฮั่นโมเดล" ผลกระทบศก.- ตลาดหุ้น รุนแรง

บล.เอเซีย พลัส ประเมินยอดติดโควิดไทยนิวไฮต่อเนื่อง อาจได้เห็น"อู่ฮั่นโมเดล" เพื่อล็อกดาวน์ 100% ชี้ 13 จังหวัดแดงเข้ม มีจีดีพี 40% ของทั้งประเทศ

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสร้างฐาน 10,000 ราย/วัน ล่าสุด รายงานเช้านี้เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 14,575 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดของไทย ปัจจุบัน ณ.วันที่ 22 กรกฏาคม ประชาชนฉีดเข็มที่ 1 ไปราว 11.5 ล้านโดส หรือราว 16.5%ของประชากร และฉีดเข็ม 2 ไปราว 3.5 ล้านโดส หรือราว 5.08% ของประชากร เพราะถ้าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะต้องฉีดให้ได้ราว 70-80% ของประชากรไทย

ขณะที่การจัดหาวัคซีนของไทย วัคซีนหลัก อาทิ ASTRAZeneca ในช่วงไตรมาส 3/64 มาล่าช้ากว่าแผนเดิมที่คาด และวัคซีนรอง MRNA อาทิ Pfizer จำนวน 20 ล้านโดสจะเข้ามาปลายไตรมาส 4 ปีนี้ 

โดยรวมประเมินจากปัจจัยแวดล้อมหากแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงและไม่ลดลง ดังช่วงต้นสัปดาห์ คือ ศบค. และ กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า หากมาตราการปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีนัก อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีก โดยอาจเป็นการล็อกดาวน์ 100% (ห้ามประชาชนออกจากบ้าน) หรือที่เรียกว่า  "อู่ฮั่นโมเดล" (Wuhan Model) ที่เกิดขึ้นในจีน  (ปีที่แล้ว เมือง อู่ฮั่น จีน ล็อกดาวน์ตั้งแต่ 23 ม.ค. – 8 เม.ย 2563 รวม 75 วัน)

โดยอู่ฮั่นโมเดลมีมาตรการที่สำคัญคือ ปิดการขนส่งทุกช่องทาง ห้ามเข้าออกเมือง ห้ามยานพาหนะวิ่งบนท้องถนน  ชาวเมือง 11 ล้านคนกักตัวเข้มงวด  แต่ละครอบครัวออกจากบ้านได้คนเดียวเพื่อซื้อสิ่งของจำเป็น  เจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้านตรวจหาเชื้อ ส่วนร้านค้า - โรงเรียนปิดทำการ ยกเว้นร้ายขายยา และอาหาร  


บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในส่วนของไทย หากมีการนำ"อู่ฮั่นโมเดล" มาใช้จริง ประเมินว่าเป็นการเปิด Downside หรือความเสี่ยงขาลงให้กับเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก และน่าจะกดดันตลาดหุ้น และหากประเมินการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในอนาคต คาดจะล่าช้ากว่าของจีน เพราะหากประเมินจาก  2 ปัจจัย ดังนี้ 

ปัจจัยแรก  ขนาด GDP จังหวัดที่จะล็อกดาวน์ของไทยรวม 13 จังหวัด สัดส่วนราว 40% ของทั้งประเทศ เทียบกับอู่ฮั่น ราว 4-5 %


 ปัจจัยที่ 2 สัดส่วนประชากรไทยที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์มีมากกว่า โดยรวมประเมินแรงส่งกลับในช่วงที่ฟื้นตัวจะล่าช้ากว่ามาก


ขณะที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ เริ่มเดินหน้าทยอยปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2564 อย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับประมาณ 1% จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการล็อกดาวน์  

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ประเมิน Downside ของ GDP ที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจนข้างต้น ส่งผลให้ Consensus มีโอกาสปรับลดประมาณการ GDP ลงได้อีก เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทย Underperform ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เผชิญผลกระทบสูง เช่น ท่องเที่ยว, ขนส่ง, ค้าปลีก, ก่อสร้าง, บันเทิง, ศูนย์การค้า เป็นต้น

เปิดโผหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวก

ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับปัญหา COVID-19 ระลอกใหม่ ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส พยายามทำ

การค้นหากลุ่มหุ้นที่ตลาดให้น้ำหนักว่าน่าจะปลอดภัยจาก COVID-19 โดยดูจากผลตอบแทนเป็นรายกลุ่มตั้งแต่ช่วงที่มีความกังวลโควิดสายพันธ์เดลตา รวมถึงการกระจายวัคซีนเริ่มเบาลง (ช่วง 15 มิ.ย. – 21 ก.ค. 64) พบว่า มีกลุ่มหุ้นที่ Outperform เด่น หรือให้ผลตอบแทนเป็นบวก คือ กลุ่ม PKG, ETRON, HELTH, FOOD, AGRI 

ในทางกลับกันกลุ่มหุ้นที่ Underperform ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ถูกผลกระทบจากโควิดในช่วง 2Q63 (มีการ ล็อกดาวน์เหมือนกัน) จนกำไรลดลงอย่างมีนัยฯ และหลายๆกลุ่มพลิกมาเป็นขาดทุนเลย คือ กลุ่ม BANK, CONS, PROP (กดดันศูนย์การค้า), TRANS, TOURISM และ MEDIA