INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

วิญญู ไชยวรรณ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

 

Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ

ธนาคารไทยเครดิตฯ

 เคียงข้าง เพื่อไมโครไฟแนนซ์


 Everyone Matters เป็นปรัชญาที่บอกว่า ธนาคารไทยเครดิตฯ ให้ความสำคัญกับคน แม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่อาจจะถูกมองข้าม ซึ่งเป็นหัวใจที่พนักงานต้องยึดมั่นและถือปฏิบัติกับลูกค้า”


“เพราะองค์กรมีส่วนประกอบหลายแบบ เจ้าของ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า สังคมที่รายล้อม ที่ต้องทำคือ ทำให้ทุกองค์ประกอบดีขึ้นเพื่อผลในระยะยาว ถ้ามองย้อนหลังกลับไป ไทยเครดิตฯ จากเคยขาดทุน จนมาทำกำไรได้ เป็นเพราะทุกองค์ประกอบดีขึ้นเรื่อยๆ นับว่ามาถูกทางแล้ว หากแบงก์มีกำไร ลูกค้าธนาคารอยู่ได้ พนักงานมีโบนัส สังคมดีขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารไทยเครดิตฯ เป็นธนาคารเพื่อรายย่อยเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีอายุ 15 ปีแล้ว แต่หากนับย้อนหลังไปไกลกว่านั้น ธนาคารไทยเครดิตฯ ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินมากว่า 3 ทศวรรษ โดยจุดเริ่มต้นจากการให้บริการภายใต้ชื่อ บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด ต่อมาได้ขออนุญาตดำเนินการจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยจากธนาคารแห่งประเทศไทย และได้รับอนุญาตจัดตั้งพร้อมเปิดดำเนินการเมื่อ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2550

ธนาคารไทยเครดิตฯ เรียกว่าจิ๋วแต่แจ๋ว เพราะมีอัตราการเติบโตขององค์กรอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เพียงแต่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ยังให้ผลตอบแทนสูงสุดจากผลประกอบการทางการเงินที่โดดเด่นและเหนือกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม ในปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และมียอดสินเชื่อ 9.82 หมื่นล้านบาท เติบโต 43% จากช่วงเดียวกันของปี 2563


ต้นปี 2565 ธนาคารไทยเครดิตฯ ชูปรัชญาแบรนด์ “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” ตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตทางธุรกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยบริการไมโครไฟแนนซ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของธนาคาร

ธนาคารไทยเครดิตฯ ภายใต้การดูแลของ วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินและประกันชีวิตกว่า 20 ปี เริ่มจากองค์กรวานิชธนกิจและบริษัทหลักทรัพย์ระดับโลก ต่อมาได้ตัดสินใจเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้บริหารของธุรกิจครอบครัว “ไชยวรรณ” ในปี 2545 โดยมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในด้านพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ การบริหารและการร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ

วิญญู เป็นผู้นำในการริเริ่มธุรกิจ Bancassurance ในประเทศไทย ด้วยการตั้ง บริษัท ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต ผ่านการร่วมทุนของครอบครัว “ไชยวรรณ” กับ BNP Paribas Cardif ของฝรั่งเศส โดยเป็นรายแรกและรายเดียวในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Bancassurance กับธนาคารทหารไทยในขณะนั้น (ปัจจุบันคือธนาคารทหารไทยธนชาต) จากนั้นจึงก่อตั้งสายงานธุรกิจ Bancassurance ขึ้นใน บริษัท ไทยประกันชีวิต กับพันธมิตรหลักคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

วิญญู มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างธุรกิจด้วยความแตกต่างคือ การดำเนินธุรกิจแบบไม่มุ่งเน้นผลกำไรระยะสั้น แต่สร้างองค์กรที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับพนักงาน คู่ค้า พันธมิตร ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียและประชากรชาวไทยฐานรากแบบยั่งยืนในระยะยาว

 

หาความแตกต่างที่ใช่

มุ่งสู่ “ไมโครไฟแนนซ์”

ภายหลังที่ได้เข้ามาบริหาร ธนาคารไทยเครดิตฯ ในปี 2555 วิญญูได้ปรับกลยุทธ์มาเจาะกลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายฐานรากทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีพันธกิจที่จะเป็นธนาคารเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ดีที่สุดในประเทศไทย

“เราลองผิดลองถูกอยู่ในช่วง 5 ปีแรก เริ่มจากพยายามจะทำธุรกิจแบบที่ธนาคารอื่นๆ ทำทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอี สินเชื่อเช่าซื้อ แต่ก็เรียนรู้ว่าอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ หลังจากที่ได้เข้ามาบริหาร จึงเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์มามุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กมากๆ เรียกว่าเป็นห้องแถวก็ได้ และพบว่าเติบโตได้ดีจนเราขยายมากขึ้น โดยเป็นการขยายลง คือจับกลุ่มสินเชื่อที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม คือ ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ ที่ทำเป็นรายแรกในประเทศ“

วิญญู กล่าวอีกว่า สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ มีการทำธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์มานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะไม่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีแต่การให้สินเชื่อเอสเอ็มอีที่เห็นจากหลายธนาคาร ซึ่งธนาคารไทยเครดิตฯ เริ่มทำไมโครไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์อย่างจริงจังเป็นรายแรกในตลาด ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น

โดยรูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารไทยเครดิตฯ คือ ใช้คนลงพื้นที่เดินตลาดเอง เข้าหากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาด คนของธนาคารที่อยู่ในบริเวณนั้นเดินตลาดทุกวันเพื่อให้รู้จักลูกค้า เพราะการที่จะได้ข้อมูลว่าลูกค้าเป็นอย่างไรต้องใกล้ชิดลูกค้า ผู้กู้ส่วนใหญ่ของธนาคารทำอาชีพขายอาหาร ขายผักผลไม้ หรือกิจการซื้อมาขายไปโดยใช้เงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อไมโครและนาโนของไทยเครดิตฯ ปล่อยกู้เฉลี่ย 30,000-50,000 บาทต่อราย

“เราสำรวจพื้นที่หลายตลาดในประเทศไทย เลือกที่มีขนาดไม่เล็กเกินไป มีจำนวนพ่อค้าแม่ค้าพอสมควร ซึ่งวิถีชีวิตคนไทยยังผูกพันกับตลาด และสำหรับพ่อค้าแม่ค้าแผงลอยในตลาดคือชีวิตของพวกเขา ไทยเครดิตฯเปิดสาขาในตลาดทั้งแบบตึกแถว หรือเล็กแบบเป็นแผงที่อยู่ในตลาด และให้พนักงานลงเดินตลาดเอง พนักงานสาขามีหน้าที่ทั้งให้กู้และเก็บค่างวดชำระคืนจากลูกค้าด้วย”

วิญญูเล่าด้วยว่า รูปแบบธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ของธนาคารไทยเครดิตฯ คือแนวทางในการแก้ไขหนี้นอกระบบแนวทางหนึ่ง เพราะรูปแบบการให้สินเชื่อของระบบธนาคารแบบเดิมไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มรายเล็กๆ เหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้ เมื่อไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ก็ไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งหนี้นอกระบบไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีขนาดที่ใหญ่มาก และกลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้ติดหนี้นอกระบบกันเกือบหมด

ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์จะมีสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขึ้นๆ ลงๆ เพราะถ้าลูกค้ามีรายได้ก็จะจ่ายคืน แต่ถ้าเขาไม่มีก็คือไม่มีจริงๆ จ่ายคืนไม่ได้ การควบคุมคุณภาพหนี้จึงต้องมีรูปแบบที่แตกต่างกับสินเชื่อกลุ่มอื่น โดยธนาคารไทยเครดิตฯ จะใช้วิธีบริหารคุณภาพหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขหนี้ให้ลูกค้ามากกว่าการตัดหนี้แล้วยึด เพราะยึดในหัวใจสำคัญคือ ช่วงไหนที่ไม่ดีไทยเครดิตฯ ก็ต้องอยู่กับลูกค้า ช่วงไหนดีก็ต้องอยู่กับลูกค้า และเมื่อเขามีก็จะมาจ่ายคืน ต้องอาศัยความเชื่อใจสูงมาก

“แม้ธนาคารไทยเครดิตฯ จะปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มไมโครไฟแนนซ์เพื่อหวังจะช่วยแก้เรื่องหนี้นอกระบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถทดแทนเงินกู้นอกระบบได้ทั้งหมด เพียงแต่ช่วยทดแทนได้บางส่วน เพราะปัญหาหนี้นอกระบบไม่มียาขนานไหนจะช่วยให้หายไปทันทีได้ เป็นปัญหาที่สะสมมานานมาก”

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเรื่องของการปล่อยกู้ด้วยไมโครไฟแนนซ์อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ให้น้อยลงเท่านั้น โดยการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ การแก้ที่ต้นตอนั่นคือการสร้างความรู้ทางการเงินให้คนกลุ่มนี้ให้รู้จักบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคล และการบริหารภาระหนี้

วิญญูกล่าว่า ธนาคารไทยเครดิตฯ มุ่งมั่นที่จะให้ความรู้และช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นฐานรากของประเทศที่มีสัดส่วนกว่า 90% ของประชากรประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทางการเงินของกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันไทยเครดิตฯ มีศูนย์การเรียนรู้ หรือ Learning Center ในการให้ความรู้กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่มีปัญหาทางด้านการเงิน โดยให้ความรู้การบริหารจัดการการเงินระดับพื้นฐานในชุมชนด้วย

 

ปรัชญา Everyone Matters

Human Touch คือหัวใจ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตฯ ยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ โดยมีบริการด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิต เพื่อธุรกิจรายย่อย สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี และมีส่วนแบ่งในตลาดนาโนไฟแนนซ์และไมโครไฟแนนซ์ที่ใหญ่ที่สุด โดยธนาคารพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก คือ

       1. มุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พนักงานของธนาคารมีความรู้ความเข้าใจที่หยั่งรากลึกในธุรกิจ พนักงานจะคอยดูแลลูกค้าและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด ขณะที่โมเดลธุรกิจของธนาคารได้รับการออกแบบให้คำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ลดปัญหาของลูกค้า และมอบโอกาสที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นที่หนึ่ง

      2. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ธนาคารมีสาขารับเงินฝากเงิน รวม 25 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่มีสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยเกือบ 500 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธนาคารสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าพร้อมส่งมอบผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้ธนาคารมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

      3. วัฒนธรรมองค์กร พนักงานของธนาคารทุกคนจะให้ความสำคัญกับลูกค้าทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะมีธุรกิจขนาดเล็กแค่ไหนก็ล้วนมีคุณค่า ภายใต้ปรัชญาแบรนด์ ‘Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ’ ทีมงานของธนาคารจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า พร้อมยกระดับความสามารถในการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามโมเดลธุรกิจของธนาคาร

Everyone Matters เป็นปรัชญาที่บอกว่า ธนาคารไทยเครดิตฯให้ความสำคัญกับคน แม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่อาจจะถูกมองข้าม ซึ่งเป็นหัวใจที่พนักงานต้องยึดมั่นและปฏิบัติกับลูกค้า”

วิญญูกล่าวว่า ธนาคารไทยเครดิตฯ มีวิสัยทัศน์และทัศนคติในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกว่าที่อื่น โดยเฉพาะในการเลือกบุคคลากรขององค์กรที่มีมุมมองเชิงบวกและให้ความสำคัญกับความสำเร็จในลักษณะเป็นผลงานและทีมงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยผลประกอบการที่โดดเด่น ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตฯ ได้รับรางวัล “The Fastest Growing Retail Bank Thailand” จากประเทศอังกฤษติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ในช่วงปี 2560-2562

“สำหรับตัวเองไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องก้าวขึ้นเป็นเบอร์ไหน เพราะองค์กรมีส่วนประกอบหลายอย่าง เจ้าของ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า สังคมที่รายล้อม ที่ต้องทำคือทำให้ทุกองค์ประกอบดีขึ้นเพื่อผลในระยะยาว ถ้ามองย้อนกลับไป ไทยเครดิตฯจากที่เคยขาดทุนจนมาทำกำไรได้เป็นเพราะทุกองค์ประกอบดีขึ้นเรื่อยๆ นับว่ามาถูกทางแล้ว หากแบงก์มีกำไร พนักงานมีโบนัส ลูกค้าธนาคารอยู่ได้ สังคมดีขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

วิญญู กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาช่องทางดิจิทัลปัจจุบัน ธนาคารไทยเครดิตฯมีแอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า ไมโครเพย์ อี-วอลเล็ท สำหรับลูกค้าเพื่อลดการใช้เงินสดเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเงินขายของ โดยในอนาคตจะนำข้อมูลธุรกรรมผ่านแอปฯมาวิเคราะห์ความสามารถในการให้สินเชื่อกับลูกค้า 

“ส่วนตัวยังมีความเชื่อว่าการใช้รูปแบบให้พนักงานลงพื้นที่เจอหน้าลูกค้าจริงๆ Human Touch มีความสำคัญมากกว่าการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นอย่างเดียว เพราะวิธีนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครพิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่ทำมาตลอดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จจริง”

แม้ในปัจจุบันจะมีธนาคารรายใหญ่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจสินเชื่อขนาดเล็ก โดยเจาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นฐานลูกค้าของธนาคารไทยเครดิตฯ แต่ก็ยังมีรูปแบบการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งธนาคารไทยเครดิตฯ ยังคงเป็นรายเดียวที่ใช้จำนวนพนักงานลงพื้นที่อยู่กับลูกค้า ส่วนผู้เล่นรายอื่นอาจจะเน้นด้านดิจิทัลมากกว่า เพราะการจ้างคนจำนวนมากมาทำในรูปแบบเดียวกันมีต้นทุนเยอะมาก แต่ธนาคารไทยเครดิตฯ ทำรูปแบบนี้มานานแล้ว และเชื่อในเรื่องคนของธนาคาร

“ธนาคารไทยเครดิตฯ นอกจากกลุ่มไมโครไฟแนนซ์แล้ว เราก็ยังมีการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีกับเจ้าของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหลักล้าน โดยจะใช้รูปแบบการให้เจ้าหน้าที่ Relationship Manager (RM) เข้าหาลูกค้า ซึ่งจะเป็นประเภท ร้านค้าร้านอาหาร เจ้าของโรงงานขนาดเล็ก”

โดยต้นปี 2565 ธนาคารไทยเครดิตฯ เปิดตัวแคมเปญ Standby เพื่อสื่อถึงการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในช่วงวิกฤติส่งกำลังใจให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้สู้กับทุกอุปสรรคและข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเป็นการปรับโฉมแบรนด์ของธนาคารไทยเครดิตฯให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วย

วิญญู กล่าวว่า อีกความโดดเด่นของธนาคารไทยเครดิตฯ คือเรื่องเงินฝาก ด้วยความที่เป็นธนาคารขนาดเล็กจึงต้องพยายามสร้างความแตกต่างและให้มีความน่าสนใจ ซึ่งได้รับผลตอบรับเข้ามาค่อนข้างดีและมีชื่อติดตลาดสำหรับลูกค้าในฐานะผู้นำด้านเงินฝาก โดยในปี 2564 ไทยเครดิตฯมีสินทรัพย์รวม 1.15 แสนล้านบาท เป็นจำนวนลูกค้าสินเชื่อ 2.5 แสนราย และจำนวนลูกค้าเงินฝาก 8 หมื่นราย และภายในสาขาที่มี 521 สาขา จะแยกรูปแบบการให้บริการสาขาออกเป็นสาขาย่อย 496 สาขาและสาขาเต็มรูปแบบที่เป็นลูกค้าเงินฝากเป็นหลักจำนวน 25 สาขา

“ในปีนี้จะมีการปรับรูปแบบสาขาสำหรับกลุ่มเงินฝากใหม่ หลังจากเคยเน้นเปิดสาขาตามหัวเมืองก็จะเข้ามาใจกลางเมืองมากขึ้น เริ่มจากเปิดสาขาในเซ็นทรัลเวิลด์ที่ได้ปรับการตกแต่งสาขาใหม่ให้มีบรรยากาศเข้ากับกลุ่มลูกค้ากลางเมืองด้วย”

วิญญู กล่าวอีกว่า สำหรับภาพในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าของธนาคารไทยเครดิตฯ จะเป็นอย่างไรนั้น มองว่าคงจะรักษาสิ่งที่เป็นอยู่เอาไว้ โดยไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ยังเติบโตได้อีกมาก และเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยเครดิตสามารถเติบโตเป็นสองเท่า ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อมีกว่า 1 แสนล้านบาท จะขยายเป็น 2 แสนล้านบาท ได้ใน 5 ปีโดยที่รักษาการเติบโต 20-30% ต่อปีได้เช่นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ธนาคารไทยเครดิตฯ ได้มีการศึกษาแนวทางในการยกฐานะจากธนาคารเพื่อรายย่อยไปสู่ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เพราะการทำธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจะมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจมากกว่า เช่น การให้วงเงินสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้นเพราะลูกค้าเอสเอ็มอีบางรายของธนาคารไทยเครดิตฯเติบโตขึ้นจนหลุดนิยามที่ธนาคารเพื่อรายย่อยจะให้สินเชื่อได้ การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบก็ยืดหยุ่นมากกว่า ทั้งนี้ กำลังศึกษาแนวทางการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย เพราะไทยเครดิตฯเติบโตได้เร็วและต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น

 


มุมนักสะสม “วิญญู” หัวใจศิลป์

นอกจากในมุมการเป็นผู้บริหารธนาคารแล้ว วิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ก็ยังมีอีกมุมคืองานด้านศิลป์ ทั้งการเขียนหนังสือ สะสมงานศิลปะ งานดนตรีและการฝึกฝนศิลปะป้องกันตัว ยึดหลักใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย

โดยเฉพาะการสะสมงานศิลปะเขาเล่าว่า เริ่มเข้าสู่วงการนี้มาไม่นาน เหตุเพราะได้ลองศึกษาจึงเริ่มสะสมมาเรื่อยๆ ทำให้บริเวณห้องทำงานของ วิญญู เต็มไปด้วยภาพที่หามาเก็บอยู่เรื่อยๆ แขวนเรียงรายตลอดแนวทางเดินเหมือนเป็นแกลลอรี่งานศิลป์ขนาดย่อม

ภาพบางภาพแม้จะเป็นผลงานของศิลปินไทยแต่วิญญูตามหามาได้จากต่างประเทศ เช่น ภาพวาดของ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิก ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นภาพวาดบ้านและกองฟางในกรอบแบบยุโรป เขาบอกว่า ภาพบางภาพ ถูกขายออกไปบ้างแล้วก็มีเมื่อมีคนสนใจเรียกว่าเป็นการลงทุนในสิ่งที่ชอบทางหนึ่ง (Passion Investment)


“ไม่ยึดติด ไม่มีสิ่งไหนอยู่กับเราได้ตลอดไป” เขากล่าวติดหัวเราะ

วิญญู ผู้สนใจงานศิลป์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะพาณิชยศาสตรบัณฑิต สาขาการเงินการธนาคาร ปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) จาก The Anderson School at UCLA, California ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Chartered Financial Analyst (CFA) จาก CFA Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา


เริ่มต้นอาชีพเป็นนักวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยตลาดทุน บริษัท SBC Warburg (ปัจจุบันคือ UBS) ก่อนจะย้ายมาอยู่ฝ่ายวานิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์ J.P. Morgan โดยรับผิดชอบทางด้านการควบรวมกิจการ และที่ปรึกษาในการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจ

 


ติดตามคอลัมน์ Special Interview  ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกันยายน 2565 ฉบับที่ 485 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi   

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt