INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

กรุงศรีวางยุทธศาสตร์ ใช้ดิจิทัลนำสร้างนวัตกรรม

เปิดยุทธศาสตร์ 5 แบงก์ยักษ์
เข้มดิจิทัล-ชู Sustainable Banking

กรุงศรีวางยุทธศาสตร์
ใช้ดิจิทัลนำสร้างนวัตกรรม

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลาง ดังนี้

ด้านที่ 1 ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมภายใต้แนวคิด Digital First-Winning Through Innovation

ด้านที่ 2 มุ่งสร้างประสบการณ์เหนือระดับ เพื่อให้ลูกค้าใช้กรุงศรีเป็นธนาคารหลัก

ด้านที่ 3 เสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่า

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการทำเรื่องเงินให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้า ตอกย้ำกลยุทธ์ "Make Life Simple" พร้อมทั้งผสานพลังศักยภาพความแข็งแกร่งของกรุงศรีและศักยภาพเครือข่ายระดับโลกของ MUFG กรุงศรีจะต่อยอดความเติบโตในระดับภูมิภาคสากลผ่านความร่วมมือและการทำงานร่วมกันกับสถาบันการเงินอื่นๆ ในเครือ MUFG ในภูมิภาคนี้ พร้อมแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายเซอิจิโระระบุว่า ธนาคารกำลังพิจารณาแผนธุรกิจและกลยุทธ์สำหรับปี 2563 เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยป้าหมายระยะยาวของธนาคารในการก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่กลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลภายใต้แนวคิด Digital First-Winning Through Innovation จะได้รับการยกระดับเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในขั้นต่อไป

โดยธนาคารได้ดำเนินงานโครงการใหม่ๆ หลายโครงการเพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่ความเป็นดิจิทัลและยกระดับแพลตฟอร์มปฏิบัติการเพื่อให้มั่นใจว่าได้ดำเนินงานตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว แม้ว่าปัจจัยสภาพแวดล้อมมีความท้าทาย ธนาคารยังคงมุ่งสร้างการเติบโตผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม

ทั้งนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มระบบธนาคารแห่งอนาคต ซึ่งรวมถึงโมเดลสาขาแบบดิจิทัล รวมทั้งการมองหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสมผสานกับฟินเทคเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหรือสร้างแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการให้บริการธนาคารในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น

“เทคโนโลยีดิจิทัลจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมและธุรกิจของธนาคาร ในปี 2563 มีแนวโน้มที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากธนาคารต่างๆ ได้ปรับตัวเพื่อนำโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์มที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าและให้บริการทางการเงินที่สามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้”

นายเซอิจิโระกล่าวว่า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธนาคารได้นำแนวคิดการทำงานรูปแบบ Agile ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มของกลุ่มงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือพนักงานในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

ในด้านธุรกิจ ธนาคารได้ลงทุนในหลายโครงการ ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล การปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขา และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการใช้ช่องทาง Multi Channelและ Omni Channel เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ Digital First-Winning Through Innovation ในการยกระดับแพลตฟอร์มดำเนินงานเพื่อเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบบริหารงานและดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ได้แก่ เทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตนบุคคลด้วยการเปรียบเทียบใบหน้า และการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน รวมทั้งนวัตกรรมต่างๆ เช่น APIs ปัญญาประดิษฐ์ และ Big Data”

ล่าสุด ธนาคารได้จัดตั้งบริษัท “กรุงศรี นิมเบิล” (Krungsri Nimble) เพื่อให้เป็นฮับในการสร้างและดูแลโซลูชั่นด้านไอที (IT Solutions Hub) กรุงศรี นิมเบิลจะเป็นพลังสำคัญในการยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีทางการเงินของธนาคารให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

“ธนาคารมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม กรุงศรีเป็นหนึ่งในสถาบันการเงิน 15 แห่ง ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน”

นายเซอิจิโระกล่าวอีกว่าธนาคารยึดมั่นในความพยายามอย่างเต็มที่ในการปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบและการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมาะสม ประกอบกับการให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและการให้ความรู้ทางการเงิน นับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการโครงการหลักในการให้ความรู้การเงิน ธนาคารได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนมากกว่า 400 แห่ง โดยมีนักเรียนระดับประถมศึกษามากกว่า 21,000 คนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ในด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของกรุงศรีและได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 5% ภายในปี 2563 กรุงศรียังมุ่งสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเพื่อร่วมพัฒนาไปสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในด้านสังคม ธนาคารมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านโครงการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มลูกค้า ล่าสุดกรุงศรีได้ออกจำหน่ายพันธบัตรเพื่อผู้ประกอบการหญิงจำนวนไม่เกิน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กรุงศรีเป็นธนาคารแห่งแรกในภูมิเอเชีย-แปซิฟิกที่ออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ

“การออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการระดมทุนที่ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกรุงศรีเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกรุงศรีที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ SME ที่เป็นผู้หญิงและแสดงถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)”