INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

กสิกรไทยพร้อมรู้ใจใส่ใจลูกค้า ด้วย 8 Transformation Journeys

เปิดยุทธศาสตร์ 5 แบงก์ยักษ์ 

เข้มดิจิทัล-ชู Sustainable Banking 

 

 กสิกรไทยพร้อมรู้ใจใส่ใจลูกค้า 

ด้วย 8 Transformation Journeys 


 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง เป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 2563 คาดว่า NIM จะลดลงเล็กน้อยเป็น 3.1-3.3% สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยขาลง เงินให้สินเชื่อคาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 4-6% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 2.7% โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ Retail จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ คาดว่าจะเติบโตที่ 9-11% 

ในขณะที่สินเชื่อ Corporate และ SME คาดว่าจะเติบโตที่ 2-4% และ 1-3% ตามลำดับ ส่วน Non-Interest Income ในปี 2563 คาดว่าจะลดลงที่ -5% ถึง -17% จากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ภาวะการแข่งขัน รวมถึงเป็นผลมาจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 และฐานที่สูงจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นในปี 2562 รวมถึงธุรกิจประกันที่ยังคงชะลอตัว 

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้า Cost to Income Ratio ในปี 2563 ที่ 40 กลางๆ จากรายได้ที่ยังคงชะลอตัว ในขณะที่ธนาคารยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง NPL Ratio เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4.0% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และธนาคารปรับกลยุทธ์ในการจัดการ NPL โดยเก็บ NPL บางส่วนไว้บริหารจัดการเองหากคาดว่าจะได้รับการชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว และ Credit Cost ลดลงอยู่ที่ราว 1.50% 

ในขณะที่ ธนาคารยังคงรักษาอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ที่แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการรองรับความเสี่ยงและอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด 

นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ธนาคารกสิกรไทยยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับลูกค้า โดยมีเจตจำนงในการเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life & Business) ด้วยบริการที่ตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการทางการเงินในทุกด้านของลูกค้า รู้ใจ ใส่ใจ พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดทุกที่ทุกเวลา และเป็นผู้ให้บริการที่ลูกค้าไว้วางใจเลือกใช้บริการ ผ่านการประสานความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทย บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และพันธมิตรทางธุรกิจ 

ในปี 2563 นี้ ธนาคารได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Imperatives) สำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ ดังต่อไปนี้ 

          1. Embed Ourselves in Selected Financially Relevant Ecosystems การเข้าไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจ ธนาคารจะเข้าไปอยู่ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่ม Unbanked และ Underbanked เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าผ่านช่องทางที่ผสานกันอย่างไร้รอยต่อระหว่าง Online และ Offline ทั้งผ่านช่องทางของธนาคารและผ่านช่องทางของ Partner 

          2. Lend Successfully Using Data Analytics การนำศักยภาพด้าน Data Analytics มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง และเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ภายใต้การควบคุมความเสี่ยงแบบ Proactive Risk Management 

          3. Ensure Cyber Security and Data Confidentiality ธนาคารให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ความมั่นคงของระบบ และการรักษาความลับข้อมูลของลูกค้า สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของลูกค้าในปัจจุบัน ที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกไซเบอร์เป็นส่วนใหญ่ 

นางสาวขัตติยา กล่าวด้วยว่า Digital Disruption ซึ่งเป็นผลจากพัฒนาการของดิจิทัลเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในรูปแบบ I want what I want when I want it (IWWIWWIWI) ก่อให้เกิด Business Model รูปแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนเเปลงวิธีการในการเข้าถึง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารกสิกรไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นธนาคารแห่งนวัตกรรม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าเสมอมา 

                ธนาคารจึงได้เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และได้กำหนด 8 Transformation Journeys ซึ่งถือเป็นความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการขยายขีดความสามารถของธนาคารในการให้บริการลูกค้า พร้อมรับมือ Digital Disruption ดังต่อไปนี้ 

          1. Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการร่วมกันสร้าง Ecosystem ซึ่งมีธนาคารทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้า ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการของธนาคาร เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการในลักษณะ Integrated Solution โดยใช้จุดแข็งของทั้งธนาคาร และพันธมิตร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า 

          2. Intelligent Lending ต่อยอดการใช้ศักยภาพด้าน Data Analytics โดยการผสานศักยภาพของบุคลากรทั้งในด้านประสบการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูล เข้ากับความความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเสนอสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ในเวลาที่ลูกค้าต้องการ บนช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว 

          3. Proactive Risk & Compliance Management การบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการระบุความเสี่ยง และการกำหนดแนวทางในการป้องกัน ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลสถาบันการเงิน 

          4. New Growth in Regional Market การสร้างการเติบโตในตลาดภูมิภาค CLMVI โดยการเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า ผ่านโครงการ Borderless Payment และการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับลูกค้าบุคคลในประเทศจีนผ่านโครงการ Better Me 

          5. Data Analytics ธนาคารมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Bank) โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอก การยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน 

          6. Cyber Security & IT Resilience การยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี และการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน 

          7. Performing Talent and Agile Organization การพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคล การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในองค์กรที่ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกองค์กร ออกแบบโครงสร้างองค์กรที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญนอกเหนือจากโครงสร้างองค์กร คือการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี 

          8. Modern World Class Technology Capability การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ส่งเสริมให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค 

ธนาคารกสิกรไทยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน มีธรรมาภิบาลที่ดี บริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่มุ่งมั่นในการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนด้วยการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking) 

นางสาวขัตติยากล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงบทบาทการเป็นกลไกสำคัญทางการเงินซึ่งช่วยผลักดันและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นต้นทางในการช่วยสนับสนุนหรือป้องกันการดำเนินธุรกิจที่อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงได้กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อและการลงทุนอย่างรับผิดชอบ

โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตามหลักสากลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อและการลงทุนผ่านโครงสร้างการจัดการทั้งในระดับบริหารและระดับธุรกรรม มีการกำหนดประเภทของสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector-Specific Guideline) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโครงการที่ธนาคารสนับสนุนจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

นอกจากนี้ ธนาคารส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม (Inclusivity) ด้วยความเท่าเทียม (Equality) ไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่เข้มแข็งในการบรรเทาความเสี่ยงที่มิอาจคาดเดาได้ในอนาคต ธนาคารจึงคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการสูงสุดของลูกค้าภายใต้หลักการให้บริการอย่างเป็นธรรม ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและคุ้มครองข้อมูลลูกค้า ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตลอดจนให้ข้อมูลและความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับความต้องการ ช่วยสร้างวินัยทางการเงินและมีความรู้เท่าทันต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

 ดังนั้น บทบาทการธนาคารเพื่อความยั่งยืนด้วยการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ ทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย