INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

กรุงเทพรุกคืบสู่ธนาคารภูมิภาค ทุ่มดิจิทัลตอบโจทย์สังคมเมือง

เปิดยุทธศาสตร์ 5 แบงก์ยักษ์
เข้มดิจิทัล-ชู Sustainable Banking



 กรุงเทพรุกคืบสู่ธนาคารภูมิภาค
ทุ่มดิจิทัลตอบโจทย์สังคมเมือง


                นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเป้าหมายของธนาคารในปี 2563 ว่า ธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์จากปัจจัยความเปลี่ยนแปลง 3 ประการคือ 

                      1. Regionalization หรือการที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เชื่อมโยงถึงกัน 

                      2. Urbanization หรือการขยายตัวของสังคมเมือง และ 

                      3. Digitalization หรือการที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในปี 2563 นี้ สิ่งที่ธนาคารได้ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจะเริ่มปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม 

                ด้าน Regionalization ธนาคารคาดว่าการเข้าซื้อกิจการของธนาคารเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซีย จะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะทำให้สินเชื่อของสาขาต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% ของสินเชื่อรวมทั้งธนาคาร 

                ทั้งนี้ ในปี 2562 เป็นปีที่ธนาคารกรุงเทพดำเนินธุรกิจมาครบ 75 ปี และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในธนาคารคือการบรรลุข้อตกลงสำหรับการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 89.12% ในธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ลำดับที่ 12 ของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อธุรกรรมนี้เสร็จสมบูรณ์โดยได้รับการอนุมัติจากทางราชการและผู้ถือหุ้นแล้วจะเป็นการเข้าซื้อกิจการธนาคารต่างประเทศครั้งแรกของธนาคารไทย        

                ไม่เพียงเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับธนาคารกรุงเทพ หากยังเป็นกรณีแรกของประเทศไทยอีกด้วย การเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาจะช่วยให้ธนาคารกรุงเทพมีฐานธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียที่มั่นคงยิ่งขึ้น และสนับสนุนกลยุทธ์ของธนาคารที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำและมีฐานธุรกิจที่ครอบคลุมในอาเซียน 

                ในช่วงข้างหน้านี้ ธนาคารจะประสานการดำเนินงานของกิจการธนาคารต่างประเทศกับสายลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถสนับสนุนลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบงานใหม่สำหรับบริการ Cash Management และ Trade Finance โดยจะเริ่มเปิดให้บริการด้วยระบบงานใหม่ในระยะแรกภายในปี 2563 นี้ 

                นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาบริการทางการเงินข้ามพรมแดนเพื่อให้สะดวกต่อการทำธุรกรรมยิ่งขึ้นทั้งสำหรับลูกค้าบุคคล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น บริการชำระเงินข้ามประเทศผ่าน QR Code และบริการ Trade Finance บนเทคโนโลยี Blockchain 

                ด้าน Digitalization ธนาคารกำลังพัฒนาระบบงานใหม่สำหรับบริการลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ เช่น บริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บริการ Cash Management และบริการ Trade Finance ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ระบบงานใหม่ของบริการ Cash Management และการทำธุรกรรมต่างๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของลูกค้าตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า 

                โดยคาดว่าบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บนระบบงานใหม่จะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใหม่กับบริการที่พร้อมตอบสนองความต้องการในการทำธุรกรรมได้ดียิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มความสามารถใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้อย่างถูกที่ถูกเวลา 

                ด้าน Urbanization ธนาคารเน้นการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าสำหรับบริการทางการเงินต่างๆ เช่น แบงก์แอสชัวรันส์ สินเชื่อบ้าน การบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการทางการเงินต่างๆ เพื่อความมั่นคงของครอบครัวและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในอนาคต ที่หัวเมืองต่างๆ ของไทยกำลังปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นเมืองใหญ่มากขึ้น 

                นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนลูกค้าธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองใหญ่ เช่น โครงการขนส่งมวลชน โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โครงการด้านพลังงาน และโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม เช่น ท่าอากาศยาน ท่าเรือ ถนนและระบบราง เป็นต้น 

                สำหรับแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของธนาคารในปี 2563นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับปัจจัยความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้ง 3 ประการคือ Regionalization, Urbanization และ Digitalization เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า 

                นอกจากนี้ ความก้าวหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร คือ การนำเทคโนโลยี Enterprise Blockchainมาเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ Trade Finance เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในอาเซียนเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ธุรกรรม Letter of Credit (L/C) ระหว่างผู้นำเข้าสินค้าในประเทศอินโดนีเซียกับผู้ส่งออกในประเทศไทยใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 10 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการนำ L/C เข้าสู่กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นจนจบ 

                “ธนาคารคาดว่าจะขยายการบริการให้ครอบคลุมลูกค้าในวงกว้างในปี 2653 นี้ โครงการนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคด้วย Digital Transformation” 

                หนึ่งในเป้าหมายหลักของธนาคารคือการสนับสนุนระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยสำหรับลูกค้าธุรกิจและมุ่งตอบสนองความต้องการทางธุรกิจอย่างครบวงจร นอกเหนือจากบริการทางการเงิน โดยธนาคารร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาระบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของลูกค้าและผสานเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศทางธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงลูกค้า ซัพพลายเชน และพันธมิตรของลูกค้า 

                ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้พัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับชำระค่าบริการขนส่งสินค้าจากลูกค้าและการรับชำระเงินปลายทางสำหรับค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายที่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าออนไลน์ ซึ่งช่วยลดภาระของบริษัทในการรับชำระเงินและจัดเก็บเงินสด 

                อีกทั้ง ยังสามารถตรวจสอบและติดตามรายการชำระเงินได้ตลอดเวลาแบบ Real Time ในปี 2563 นี้ ธนาคารจะเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการสำหรับผู้ขายสินค้าในเครือข่ายของบริษัทนี้ที่ต้องการขยายธุรกิจ ซึ่งผลจากการทำงานร่วมกับบริษัทเคอรี่ได้ก่อให้เกิด Business Model ที่สามารถนำไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจรายอื่นๆ และเครือข่ายของลูกค้าได้ในระยะต่อไป 

                อีกโครงการหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างมากในปี 2562 ที่ผ่านมา คือการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเปลี่ยนจากการชำระเงินด้วยเงินสดไปใช้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่จะได้รับความสะดวกและความปลอดภัยสูงขึ้น 

                ในขณะที่ธนาคารจะมีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้าที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ความต้องการและความสามารถในการชำระสินเชื่อของลูกค้าบางส่วนที่อาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อมาก่อน และลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ธนาคารอาจเสนอสินเชื่อให้โดยพิจารณาจากข้อมูลธุรกรรมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 

                ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารประสบความสำเร็จในการขยายฐานลูกค้าสำหรับบริการ QR Code ได้อย่างน่าพอใจ โดยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กที่รับชำระเงินผ่านบริการ QR Code ของธนาคารแล้วเป็นจำนวนกว่า 1.5 ล้านราย

 

เดินหน้า BBL InnoHub

บ่มเพาะสตาร์ตอัพระดับโลก 

                นอกจากนี้ ธนาคารยังดำเนินโครงการ Bangkok Bank InnoHubซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพระดับโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยคัดสรรผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากทั่วโลกและมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยีเข้าร่วมโครงการ เพื่อมุ่งพัฒนาเครื่องมือทางธุรกิจสำหรับธนาคารและลูกค้าของธนาคาร โดยมีสตาร์ตอัพส่วนหนึ่งที่ผ่านโครงการนี้และได้รับการคัดเลือกให้ทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือทำการตลาดผ่าน Social Media โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยปิดการขายให้ร้านค้าออนไลน์ 

                ในขณะเดียวกัน ธนาคารยังร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่ผ่านโครงการ Bangkok Bank InnoHub รายอื่นๆ ในการพัฒนากระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในธนาคาร เช่น ศูนย์ปฏิบัติการเช็ค ศูนย์ปฏิบัติการพิธีการสินเชื่อ และฝ่ายหลักทรัพย์บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยลดระยะเวลาดำเนินการธุรกรรม ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ และลดค่าใช้จ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของธนาคารไปสู่ระบบดิจิทัลในที่สุด 

                ในส่วนของบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการทำธุรกรรมเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เลือกทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ธนาคารยังคงดำเนินนโยบาย Mobile First โดยจะเพิ่มบริการใหม่ๆ ในบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมทดสอบระบบการตรวจสอบตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC ด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ในขอบเขตที่จำกัด (Sandbox) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งความสามารถใหม่ๆ ดังกล่าวจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2563 

                โดยบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บนระบบงานใหม่ที่จะพร้อมเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2563 จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างระบบการให้บริการแก่ลูกค้าผ่านหลายช่องทางที่เชื่อมโยงกัน (Omni-channel Experience) ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมในรูปแบบที่ลูกค้ากำหนดเองได้ในทุกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางออนไลน์ ทั้งบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง บัวหลวงเอทีเอ็ม บัวหลวงโฟน และเว็บไซต์ Bangkokbank.com 

                สำหรับการดำเนินธุรกิจภายใต้ทิศทาง นโยบาย ธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพยึดมั่นในปณิธานของ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ตลอดมา ซึ่งนอกจากการมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าแล้ว ธนาคารยังดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการใส่ใจดูแลสังคมและร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

                ทั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้แนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน ซึ่งธนาคารอยู่ในระหว่างปรับปรุงนโยบายสินเชื่อและกระบวนการอนุมัติสินเชื่อตามแนวทางที่ MOU กำหนดไว้ เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร 

                ในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในธนาคารที่สนับสนุนสินเชื่อสำหรับโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และโครงการสำหรับการผลิตหรือการใช้พลังงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการโครงการขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ในช่วงปี 2558-2561 จำนวนเงินสินเชื่อที่ธนาคารสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า และมีแนวโน้มที่จะมีโครงการในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง 

                ธนาคารยังได้ร่วมจัดจำหน่าย Green Bond ชุดแรกภายใต้หลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนสำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร หลักทรัพย์ดังกล่าวได้รับการรับรองโดย Climate Bond Initiative ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมทำให้การเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดจองสูงกว่ามูลค่าที่จัดจำหน่ายถึง 3 เท่า 

                ในด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน ธนาคารกำลังพัฒนาเพิ่มศักยภาพของระบบงานให้เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น รวมถึงระบบ e-KYC ที่จะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารผ่านบริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้งได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้โดยไม่ต้องไปที่ธนาคารอีกด้วย 

                ในด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารกรุงเทพร่วมสนับสนุนโครงการภายใต้แผน 5 ปีของสมาคมธนาคารไทย ในการดำเนินโครงการ คนไทยยุคใหม่...ใส่ใจเรื่องเงิน” เป็นปีที่ 2 โดยนำผู้บริหารและพนักงานของธนาคารร่วมเป็นวิทยากรอาสาสมัครออกไปจัดการอบรมสร้างความตระหนักและความรู้คิดเกี่ยวกับการใช้จ่ายและการออมเงินให้แก่นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้องก่อนออกไปประกอบอาชีพ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินในคนรุ่นใหม่และปัญหาจากหนี้สินภาคครัวเรือนที่อาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ 

                อีกทั้ง ยังร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระบบซึ่งในปัจจุบันมียอดค่อนข้างสูง โดยโครงการนี้มุ่งช่วยให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันการเงินตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปมีโอกาสผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินและดำรงชีพได้ โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ ที่จะยิ่งทำให้ติดอยู่กับปัญหาหนี้อย่างไม่รู้จบ 

                นายชาติศิริกล่าวว่า ธนาคารยังพัฒนาระบบงานและกระบวนการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่ขาดคุณสมบัติบางประการสำหรับการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบเฉพาะได้ เช่น การให้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายเล็กในซัพพลายเชน หรือแฟรนไชส์ของลูกค้าธุรกิจของธนาคาร 


ติดตามได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนมกราคม 2563 ฉบับที่ 453 บนแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือในรูปแบบดิจิทัล https://goo.gl/U6OnIi