INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

ปตท. เดินเครื่องกลยุทธ์ 4R

ฝ่าวิกฤติ Covid-19


การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของโลกธุรกิจ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่ธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงขนาดนี้มาก่อน ประเทศเข้าสู่การล็อกดาวน์ การขนส่งและการเดินทางแทบหยุดชะงัก แน่นอนว่าวิกฤติครั้งนี้กระทบกับทุกอุตสาหกรรม ยิ่งในธุรกิจพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับประเทศรัสเซีย จนเกิดปัญหาสงครามราคาน้ำมัน และการเผชิญกับผลกระทบจาก COVID-19 ถือว่าเป็นด่านทดสอบสุดหินที่หากจะเดินหน้าต่อก็ต้องพร้อมรับมือให้ได้

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงความท้าทาย 2 เรื่องหลักที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับธุรกิจพลังงาน ทั้งสงครามราคาน้ำมัน ซาอุฯ-รัสเซีย และการแพร่ระบาดของ COVID-19 แนวทางการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทิศทางการลงทุนหลังผ่าน COVID-19 ตลอดจนมุมมองที่มีต่อธุรกิจพลังงานในอนาคต

 

สงครามน้ำมัน พ่วง COVID-19

บททดสอบสุดหินของธุรกิจพลังงาน

พรรณนลิน เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นกระทบกับทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับประเทศรัสเซีย ที่ไม่สามารถเจรจาและตกลงกันได้ที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสม จนทำให้ปริมาณน้ำมันล้นตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำถึง 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ยังมาเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันลดลง ทั้ง 2 เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจของ ปตท. ค่อนข้างมาก

ในช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาดของไวรัส COVID-19 กลุ่ม ปตท. ประสบปัญหาขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Loss) ถึง 35,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลงมากจากสงครามราคาน้ำมัน ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 2563 ปตท. รายงานผลขาดทุน ขณะที่ไตรมาส 2  ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อปริมาณการขายที่ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่หายไปมากกว่า 90% และเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบในช่วงไตรมาส 2 ฟื้นตัวบ้าง แต่ยังไม่ดีนัก ทำให้ ปตท. มีกำไรสุทธิ 12,000 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 3 ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ดีขึ้นในหลายประเทศ  ทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกเริ่มฟื้นตัว และกิจกรรมทางสังคมของหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ปตท. สามารถทำกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ได้ประมาณ 14,000 ล้านบาท ทำให้ 9 เดือนแรกของปี 2563 ปตท. มีกำไรสุทธิทั้งสิ้นประมาณ 24,600 ล้านบาท

พรรณนลิน เผยว่า ในครึ่งปีแรกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจปิโตรเคมี โดยโรงกลั่นมีค่าการกลั่นอยู่ในจุดที่ต่ำมาก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทำให้ส่งผลกระทบต่อมายังราคาขายผลิตภัณฑ์ของโรงแยกก๊าซฯ ปตท. เนื่องจากราคาขายอ้างอิงตามราคาปิโตรเคมี ทั้ง 3 ส่วนนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง กลุ่ม ปตท. ได้มีการลดกำลังการผลิตจากเดิมที่โรงกลั่นเคยเดินเครื่องมากกว่า 100% ก็ลดลงมาอยู่ที่ 90% ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ก็ลดลงต่ำกว่า 90% ในไตรมาส 2 แต่ทั้งกลุ่มก็ช่วยกันบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด ปตท. คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ปริมาณการขายจะทยอยฟื้นตัว หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณการขายกลับมาดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ด้านราคาน้ำมันดูไบในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ในช่วง 40 - 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว เราเชื่อว่า หากไม่เจอเหตุการณ์ที่ต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ผลประกอบการของ ปตท. จะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน

ด้านสถานการณ์สงครามราคาน้ำมันนั้น เวลานี้อยู่ในช่วงการเจรจาข้อตกลงการลดกำลังการผลิตว่าจะทำต่อไปหรือไม่ และต้องรอดูสถานการณ์ว่าแต่ละรายจะสามารถทำตามข้อตกลงได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้อุปสงค์น้ำมันดิบของทั้งโลก จะหายไปค่อนข้างเยอะ ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 90 - 93 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ปตท. คาดว่า แนวโน้มราคาน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 40 - 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่คงจะไม่ขึ้นไปถึง 60 - 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ยังกดดันราคา เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

ใช้กลยุทธ์ 4R’s วางแผนระยะสั้น-ยาว

ปรับตัวเร็ว พร้อมยืนหยัดอย่างมั่นคง

พรรณนลิน เผยว่า สิ่งที่กลุ่ม ปตท. เริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน หลังจากที่ประสบปัญหา Stock Loss และการระบาดของไวรัส COVID-19 คือการใช้กลยุทธ์ 4R’s เพื่อรับมือสภาวะวิกฤติ ประกอบด้วยมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

         Resilience : กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเป็นการบริหารงานร่วมกันของทั้งกลุ่ม ปตท. ครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงทุกด้าน เช่น การวางกลยุทธ์งานบริหารการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน การบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้า รวมถึงการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงทางการเงิน นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังได้ดำเนินมาตรการ ลด ละ เลื่อน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทบทวนการลงทุน เพื่อพิจารณาชะลอหรือยกเลิกการลงทุนในบางโครงการไปก่อน เพื่อรักษาผลประกอบการ

โดยหากเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็จะยังคงเดินหน้าต่อ เพราะได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว แต่หากเป็นโครงการใหม่ เช่น โครงการ MARS ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC หรือโครงการ US Cracker ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ก็จะชะลอและต้องพิจารณาอีกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากปัจจัยและสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไป เราเรียงลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน อะไรที่เริ่มไปแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ เช่น โครงการ LNG Terminal แห่งที่ 2 โครงการ CFP (โครงการพลังงานสะอาด) หรือโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ของ ปตท. แต่โครงการที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุนก็จะต้องชะลอออกไปก่อน

นอกจากนี้ ยังมีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสัมมนา การจ้างบุคลากรภายนอก รวมถึงแผนการซ่อมบำรุงที่ต้องเน้นเฉพาะจุดที่สำคัญจริงๆ เพื่อลดรายจ่ายให้มากที่สุด และจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) เพื่อประเมินผลกระทบและผลการดำเนินงานจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำอย่างมาก รวมถึงประเมินแผนรับมือที่ดำเนินการอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ และวางมาตรการแผนรับมือเพิ่มเติม มีการติดตามประมาณการผลการดำเนินงานทุกเดือน ติดตามสถานการณ์ภายในและประเมินสถานการณ์ภายนอก เพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

เรามั่นใจว่า ปตท. จะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ และสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง แม้ว่าผลกำไรจะลดลง จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ และปริมาณการขายที่ลดลง  จากวิกฤติครั้งนี้ที่นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ Black Swan ที่ยากจะคาดเดา และส่งผลกระทบอย่างมาก ซึ่ง ปตท. มีการเตรียมพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

พรรณนลิน กล่าวต่อว่า กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมกู้เพื่อเก็บเงินสดไว้ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และยากที่จะคาดเดาว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มอย่างไร ต้นทุนในการกู้เงินจะสูงขึ้นหรือไม่ จึงต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ให้พร้อม เพราะทุกบริษัทต่างมีโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุน และบางโครงการมีมูลค่าโครงการสูง จึงต้องจัดหาเงินสดมาสำรองไว้ แม้ว่าเดิมมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน กลุ่ม ปตท. มีการกู้เงินไปแล้ว 180,000 ล้านบาท จากแผนการกู้เงินที่วางไว้ 200,000 ล้านบาท

         Restart : เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ นำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด รักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม ปตท. ไว้ให้ได้

ปตท. ติดตามความสามารถในการชำระเงินของลูกค้า พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น การเลื่อนเวลาชำระเงินออกไป ลดค่าปรับในการชำระเงินล่าช้า ด้านเจ้าหนี้ทางการค้า ปตท. ได้รักษามาตรฐานการชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด 30 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีสภาพคล่องหมุนเวียนตามแผน

          Re-imagination : จัดเตรียมรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็น Next Normal ทั้งในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงธุรกิจใหม่ หรือที่เรียกว่า New S-Curve

         Reform : ปรับโครงสร้างองค์กรและทิศทางในการดำเนินธุรกิจใหม่ มีการทำ Business Transformation เพื่อให้มั่นใจว่า ปตท. จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเตรียมความพร้อมตามแผน BCM  (Business Continuity Management) เพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจอยู่แล้ว ภายใต้ภาวะวิกฤติ ปตท. ได้ มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์แวดล้อม ประเมินผลการดำเนินการและผลประกอบการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดย ปตท. เน้นสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวตั้งแต่ระดับบอร์ดบริหาร ผู้บริหาร ลงมาถึงพนักงาน เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในทุกด้าน รวมถึงให้สามารถปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

พรรณนลิน กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำให้ปริมาณการขายน้ำมันเริ่มกลับมาใกล้ระดับปกติ แม้ว่าในภาคธุรกิจการบินจะยังไม่ฟื้นตัวดีแต่ก็เริ่มมีความต้องการเข้ามาบ้างแล้ว ทำให้ในภาพรวม ปริมาณการขายมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอยู่ในช่วงทรงตัว จากที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบตกลงไปถึง 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันกลับขึ้นมาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ผลกระทบเรื่องขาดทุนสินค้าคงเหลือหรือ Stock Loss ลดลง แต่ค่าการกลั่นยังไม่ฟื้นตัวดี เพราะปริมาณการขายน้ำมันอากาศยานยังไม่กลับมา อย่างไรก็ตาม โรงงานปิโตรเคมีสามารถกลับมาเดินเครื่องเป็นปกติได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้ ถึงแม้ว่าส่วนต่างของราคาปิโตรเคมีและวัตถุดิบยังไม่ดีมากนัก เนื่องจากมีอุปทานหรือ Supply ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ขณะที่ราคาต้นทุนของวัตถุดิบลดลง

 

ฐานะทางการเงิน ปตท. แข็งแกร่ง

ร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ

พรรณนลิน กล่าวว่า ปตท. ตั้งงบลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563 - 2567) อยู่ที่ประมาณ 170,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 นั้นเดิมตั้งงบลงทุนไว้ 69,000 ล้านบาท แต่ในช่วงกลางปีได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนงบลงทุนอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนงบลงทุนของทั้งกลุ่ม ปตท. ได้ตั้งงบฯ ใน 5 ปีข้างหน้าไว้ที่ประมาณ 800,000 ล้านบาท แต่อาจมีการเลื่อนหรือชะลอบางโครงการออกไป

แม้ว่า ปตท. จะเผชิญภาวะวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลง แต่ ปตท. ก็ยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินไว้ได้ โดยยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ที่ระดับ BBB+ เทียบเท่ากับความแข็งแกร่งของอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ประกอบด้วยบริษัทลูกหลายบริษัท ดังนั้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของทั้งกลุ่ม ปตท. จึงได้มีการทำงานร่วมกันภายในกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริษัทที่เป็น Flagship ซึ่งที่ผ่านมา Flagship สามารถสร้างความแข็งแกร่งด้วยตนเองอยู่แล้ว แต่ ปตท. จะเข้าไปช่วยเสริมในด้านการกำหนดกลยุทธ์ นโยบายการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเกิดพลังร่วมในการดำเนินงานร่วมกันเป็นกลุ่ม (Synergy) รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า ฐานะทางการเงินของกลุ่ม ปตท. ยังคงมั่นคง แข็งแกร่ง คงความน่าเชื่อถือ 

พรรณนลิน กล่าวต่อว่า ปตท. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ จึงให้ความสำคัญกับการร่วมดูแล และเป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง  นอกเหนือจากการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นพันธกิจหลัก แล้ว ปตท. จะต้องรักษาความแข็งแรงของตัวเองเพื่อไม่ให้กระทบหรือเป็นภาระกับประเทศ แต่ในมุมของบริษัทลูก ปตท. จะผลักดันให้บริษัทลูกมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง แต่หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ปตท. ก็จะเข้าไปช่วยตามความเหมาะสม

สถานการณ์ตอนนี้เริ่มคลี่คลาย  ปตท. ยังคงมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ชะลอไว้ ซึ่งต่อจากนี้จะมีการทบทวนว่า โครงการใดที่จะสามารถเดินหน้าลงทุนต่อได้ รวมถึงมีการจ้างงานตามแผนลงทุนของกลุ่ม ปตท. การจ้างบุคลากรที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ สนับสนุนให้พนักงานใช้วันหยุดเพื่อไปพักผ่อนในต่างจังหวัด โดย ปตท. จะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อกระจายเงินไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นมาตรการส่วนหนึ่งที่ ปตท. มองว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนประเทศได้

 

เผย New S-Curve is Coming

มองนอกกรอบเล็งธุรกิจ Life Science

พรรณนลิน กล่าวว่า ธุรกิจหลักของ ปตท. อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ต้องเดินหน้าลงทุนต่อ และพร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจพลังงานต้องเผชิญกับ Disruption อีกหลายครั้ง ปตท. จึงต้องเตรียมการสำหรับอนาคต โดยมองหาโอกาส เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ที่เวลานี้ได้รับความสนใจมากขึ้น และยังเป็นสิ่งที่ ปตท. มองหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจไฟฟ้า และ Energy Storage รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน ที่ ปตท. ก็ให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น จะมี 2 ส่วนคือ Conventional และ Renewable ซึ่ง ปตท. มี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนธุรกิจไฟฟ้า ถือหุ้นโดย ปตท. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP 
และ GC โดยถือหุ้นรวมกันประมาณ 75% ส่วนที่เหลือ 25% เป็นส่วนของนักลงทุนทั่วไป

ในอนาคตเมื่อเกิด Energy Disruption ที่ผู้คนลดหรืออาจเลิกใช้น้ำมัน และหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลักและเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยตัวเลขจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2580 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561 จะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 53% ขณะเดียวกัน สัดส่วนพลังงานทดแทนก็จะเพิ่มขึ้นถึง 19% ของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ อย่างเช่นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่จะได้รับความนิยมในอนาคต ซึ่งจะต้องมี EV Charger ตามสถานีบริการน้ำมัน หรือสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม นั้น ปตท. ก็ให้ความสนใจทำธุรกิจ EV Charger ด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐด้วย

พรรณนลิน กล่าวต่อว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่ ปตท. มองว่าจะเป็นอนาคตของธุรกิจพลังงาน แต่ภารกิจในการค้นหา New S-Curve ของ ปตท. นั้น ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอยู่ในกรอบเดิมเสมอไป เพราะนอกจากธุรกิจใหม่ที่จะเกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว ขณะนี้ ปตท. กำลังให้ความสนใจกับเรื่อง Life Science 
เพราะประเทศไทยต้องนำเข้ายา วิตามินรวมถึงอุปกรณ์การแพทย์เป็นจำนวนมากและมีราคาแพง ปัจจุบัน ปตท. จึงได้ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. เพื่อเข้าไปร่วมลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตยา ซึ่ง ปตท. สามารถเรียนรู้ตัวธุรกิจไปด้วย ยิ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก

เราคาดว่าจะได้เห็นธุรกิจ New S-Curve ของ ปตท. ในอีกไม่นาน เพราะที่ผ่านมา ทั้งกลุ่ม ปตท. ได้เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่หลายรูปแบบ เพื่อทดแทนธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าเป็นสิ่งที่ใช่จริงๆ สำหรับกลุ่ม ปตท. หรือไม่ ซึ่งเราเชื่อว่า การจะสร้างสิ่งใหม่ ต้องมองนอกกรอบเดิมๆ ที่เคยอยู่ ซึ่งตอนนี้ ธุรกิจที่ ปตท. มองว่าเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ซึ่งสอดคล้องกับ Mega Trend คือธุรกิจที่เกี่ยวกับ Life Science เช่น ธุรกิจยา โภชนาการ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์

นอกจากนี้ ปตท. ยังลงทุนในกองทุน Venture Capital ซึ่งมีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย แน่นอนว่าการลงทุนอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จ 100% แต่ก็ได้เรียนรู้ทิศทางของโลกธุรกิจว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด หรือมีโอกาสที่ ปตท. จะเข้าไปร่วมลงทุนได้หรือไม่


ปตท. เดินหน้าสู่โลกดิจิทัล

พร้อมรับคลื่น Technology Disruption

พรรณนลิน กล่าวว่า ความท้าทายที่รออยู่ในอนาคตนั้น เชื่อว่าธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับ Technology Disruption อย่างแน่นอน การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นทั้งจุดเปลี่ยนและตัวเร่งให้ต้องเผชิญความท้าทายนี้เร็วขึ้น ในส่วนของ ปตท. ได้มีการเตรียมความพร้อม และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในทุกส่วนงาน เช่น ในงานการเงิน ได้มีการนำระบบ RPA (Robotic Process Automation) เข้ามาช่วยในส่วนของงานที่ต้องทำซ้ำๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในกระบวนการรับหนังสือค้ำประกัน (Blockchain Bank Guarantee) ซึ่งช่วยลดเวลาการจัดทำ-ตรวจสอบเอกสาร ของทั้ง ปตท. คู่ค้า และธนาคาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ทีมการเงิน ปตท. ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกการเงินอยู่ตลอด โดยมีการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อร่วมผลักดันการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อต้องเผชิญกับ Technology Disruption ปตท. จะสามารถรับมือได้ในทุกมิติ

เราคิดว่าจะสร้าง Blockchain Ecosystem ของกลุ่ม ปตท. แต่ก็มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น จะพัฒนาไปถึงคู่ค้าหรือไม่ หรือจะไปเชื่อมกับ Ecosystem อื่นๆ อย่างไร เราไม่ได้คิดว่าถ้าเป็น New Technology แล้วจะต้องทำทันที เพราะต้องดูความคุ้มค่าด้วย แม้กระทั่งเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล เราก็ศึกษาเช่นกัน แต่ต้องดูว่าอะไรที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด

ด้วยสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่ทั้งองค์กรเล็ก ใหญ่ ต่างต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และการวางกลยุทธ์ที่เป็นเลิศ จะช่วยให้องค์กรชนะความท้าทายเหล่านั้นไปได้ และกลยุทธ์ 4R’s ก็เป็นกลยุทธ์ที่สามารถตอบรับกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ผนวกกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินด้วยการมองหาธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ ปตท. เป็นองค์กรที่มั่นคง เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สามารถยืนหยัดสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อย่างแท้จริง



ติดตามคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ฉบับที่ 464 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi