INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

 

ESG  ถือเป็น DNA ของไทยออยล์ ต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี สร้างคนดี มีจิตสาธารณะ แต่ถ้ามองอีกด้าน ทางด้านธุรกิจ เราคือเอ็นจิเนียร์ระดับหัวกะทิ เป็นโรงกลั่นที่ดี ต้นทุนการผลิตต่ำ ด้วย DNA นี้ ผลิตภัณฑ์ของไทยออยล์จึงโดดเด่นในเรื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณค่าต่อชุมชน จึงเป็นที่มาว่า ตั้งแต่ 60 ปีจนถึงปัจจุบัน เราพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า เป็นนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์สู่สังคมมาโดยตลอด และเราจะเดินหน้าต่อไป ภายใต้ธีม Bonding Human Life เชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม

อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเลียม กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องรับมือกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สงครามราคาน้ำมัน ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงจนเกิด Stock Loss ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงอย่างมาก จึงถือได้ว่าเวลานี้เป็นบททดสอบความแข็งแกร่งครั้งสำคัญของผู้เล่นในธุรกิจพลังงานทั่วโลก ที่จะต้องสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถึงความท้าทายของโลกธุรกิจพลังงาน ที่เวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับบทพิสูจน์ครั้งสำคัญ จากความท้าทายที่ถาโถม การลงทุนครั้งมหาศาลภายใต้โครงการพลังงานสะอาด CFP ที่จะเพิ่มศักยภาพโรงกลั่นถึง 40% รวมถึงภารกิจสำคัญในการดูแล ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตลอดจนทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงานมาถึง 60 ปี และจะยังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้ธีม “Bonding Human Life เชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคมปูทางสู่การเป็นองค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน

 

อุตสาหกรรมพลังงานฝ่าคลื่นวิกฤติ

สงครามน้ำมัน-พิษ Covid-19

วิรัตน์ เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ปี 2020 ถือได้ว่าเป็นปีที่ยากลำบาก ทุกอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19 โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งโดนผลกระทบหนักที่สุดจากการประกาศมาตรการ Lock Down ด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของไทยออยล์ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หลายแห่งในโลก

ในช่วงต้นปี ไทยออยล์ ได้เตรียมพร้อมในเรื่องของการเปลี่ยนสเป๊กน้ำมันเตาให้มีกำมะถันน้อยลง ตามข้อบังคับของ International Marine Organization (IMO) และยังต้องมาเผชิญกับสงครามราคาน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงไปต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่เก็บอยู่ 10 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าถึง 14,000 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานของไทยออยล์ในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

จากนั้นก็ต้องเผชิญกับการระบาดของ Covid-19 ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่จนกระทบต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน เนื่องจากหลายประเทศมีการยกเลิกเที่ยวบิน และเข้าสู่มาตรการ Lock Down จนทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอยู่ที่ระดับต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน ทั้งนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เมื่อคิดเฉลี่ยรวมแล้วก็ยังขาดทุน 11,274 ล้านบาท

มีช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันติดลบแต่เป็นช่วงสั้น ใครมาขนน้ำมันต้องจ่ายเงินให้เขาด้วย เพราะราคาติดลบ แต่โรงกลั่นก็หยุดผลิตไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตที่เริ่มใหม่ยาก แต่ก็แค่ระยะเวลาสั้นๆ ถ้าไม่นับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ครั้งนี้ถามว่า หนักมั้ย หนัก เฉพาะ Stock Loss ก็หนักแล้ว แต่ไม่ได้กังวลมากเพราะเรามีต้นทุนน้ำมัน และมีน้ำมันเก็บอยู่ พอต้นทุนต่ำเราก็ตัดขาดทุนไปเลย เริ่มใหม่จากต้นทุนปัจจุบันแทน

วิรัตน์กล่าวว่า เวลานี้ราคาน้ำมันดิบค่อยๆ กลับมาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ไทยออยล์มีกำไรจากต้นทุนราคาน้ำมัน จึงเรียกได้ว่า เจอกับปัญหาใหญ่เรื่องต้นทุนแค่ครั้งเดียว สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลาย แต่ส่วนที่น่ากังวลคือ ความต้องการใช้น้ำมันที่หายไปในช่วง Covid-19 แต่ในภาพกว้างก็ถือว่าเริ่มดีขึ้นหลังจากมีการคลาย Lock Down แต่หากดูที่ส่วนของน้ำมันอากาศยานนั้น ถือว่าค่อนข้างกระทบมาก เนื่องจากต้องยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมด ที่ช่วยพยุงไว้คืออุปสงค์การบินภายในประเทศ ด้านสต๊อกน้ำมันก็ถือว่ายังมีปริมาณสูง ราคาน้ำมันจึงยังไม่กลับมาเป็นปกติ

ถ้าถามว่า ธุรกิจเราเป็นอย่างไรวันนี้ ต้องยอมรับว่ายังเหนื่อยอยู่ แต่ไทยออยล์เป็นโรงกลั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เทียบกับรายอื่นเรายังไปได้ ท่ีผ่านมาโรงกลั่นหลายโรงปิดไปทำให้กำลังการกลั่นลดลง ซัพพลายลดลงเราก็พอได้ประโยชน์ ผมคิดว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราจะเป็นคนสุดท้ายที่ยังยืนอยู่ The Last Man Standing”

วิรัตน์ยืนยันว่า แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะยากลำบาก แต่บริษัทลูกของไทยออยล์ที่ทำเรื่องปิโตรเคมีสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างดี เนื่องจากต้นทุน Feedstock ลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยังสามารถขายได้ราคาเดิม ดังนั้นแม้จะยังเหนื่อยอยู่ แต่คาดว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆ

 

เดินหน้าสู่การเป็นองค์กร 100 ปี

ลุยโครงการ CFP เพิ่มกำลังการผลิต 40%

วิรัตน์ กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ เป็นปีที่ครบรอบ 60 ปี ของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไทยออยล์ตั้งเป้าสู่การเป็นบริษัท 100 ปี ให้ได้ ดังนั้น ระยะเวลาอีก 40 ปีข้างหน้า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้น้ำมันที่จะลดลง จนถึงการที่พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทแทนที่น้ำมัน ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ก็เริ่มหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว ทิศทางในอนาคตจะเป็นเช่นนี้แน่นอน ดังนั้น ไทยออยล์จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน

ในเมื่อน้ำมันโตน้อยลง เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง ในอนาคตไทยออยล์จะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์สู่การเป็น Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals เราจะเป็นบริษัทพลังงานและปิโตรเคมีมากกว่าโรงกลั่นอย่างเดียว โดยตั้งเป้าว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ไทยออยล์ต้องการทำให้สัดส่วนของกำไรมาจากธุรกิจไฮโดรคาร์บอน 80%เป็นกำไรจากโรงกลั่น 40% ปิโตรเคมี 40% ส่วนที่เหลือคือธุรกิจไฟฟ้า 15% และอื่นๆ 5% นี่คือเส้นทางที่เราจะไปให้เร็วที่สุด

ในธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น ไทยออยล์มีประสบการณ์และองค์ความรู้ในการดำเนินงานมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่การทำโรงไฟฟ้าเอกชนรายแรกของประเทศไทย (Independent Power Producer หรือ IPP)  กำลังการผลิต 700 MW โดยขายไฟฟ้าให้กับ EGAT และใช้เองภายในโรงกลั่นนอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศ ร่วมกับ ปตท. ตั้งบริษัทร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเริ่มลงทุนในประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย และจากนี้จะเดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้โตขึ้น

วิรัตน์เผยว่า ไทยออยล์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยไทยออยล์ได้เตรียมความพร้อมด้านเงินทุนไว้ทุกด้าน และยังออกและเสนอขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับความนิยมสูงมากจากนักลงทุน ดังนั้น แม้ในภาพกว้างไทยออยล์อาจได้รับผลกระทบจาก Covid-19 แต่โครงการ CFP ยังคงเดินหน้าเป็นไปตามแผนทั้งหมด

เมื่อโครงการ CFP ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น จะทำให้ไทยออยล์มีความสามารถในการกลั่นสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการกลั่นแบบ Complex เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง หลากหลายประเภท ภายใต้ต้นทุนที่ถูกลงและสามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสาย Olefins ได้ ซึ่งจากเดิมมีแค่ Aromatics

ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะมี 2 สายหลัก คือ 1. อะโรเมติกส์(Aromatics) ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตขวดน้ำ และเสื้อผ้าที่เป็นโพลีเอสเตอร์ 2. โอลิฟิน (Olefins) ที่ใช้ทำเม็ดพลาสติก ซึ่งไทยออยล์จะมีเมื่อโครงการ CFP แล้วเสร็จ โครงการ CFP เป็นการลงทุนโครงการที่ใหญ่มาก สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 40% เพิ่มกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ใช้เงินลงทุนไปถึง 140,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้เราเดินหน้าไปครึ่งทางแล้ว

วิรัตน์ย้ำว่า จากเงินลงทุนกว่า 140,000 ล้านบาท จะต้องมีอย่างน้อย 40,000 ล้านบาท ที่สะพัดในประเทศไทย โดยไทยออยล์กำลังจัดจ้างผู้รับเหมาไทยเพิ่ม จากปัจจุบันที่มีอยู่ 40 ราย จากทั้งหมด 50 ราย ขณะที่แรงงานก็พยายามใช้คนไทยให้มากที่สุด อะไรที่ซื้อในประเทศได้ก็จะเน้นซื้อในประเทศ เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ โครงการ CFPยังเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน โครงการแรก ภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ยอมรับว่าโครงการ CFP ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เช่นกัน เพราะในด้านเทคโนโลยีและเราต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น การก่อสร้างจึงมีผลกระทบบ้าง แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไทยออยล์ตั้งเป้าไว้แล้วว่าโครงการนี้จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงต้องใช้แรงงานไทยมากที่สุดเท่าที่ใช้ได้

วิรัตน์กล่าวต่อว่า โครงการ CFP เป็นโครงการที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัท สามารถลดต้นทุนการผลิตเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นเพิ่มสัดส่วนน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้น ร้อยละ 40-50 และสามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ เช่น จากเดิมที่มีน้ำมันเตา ซึ่งมูลค่าต่ำกว่าต้นทุน นำมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซล หรือน้ำมันอากาศยาน และส่วนสุดท้ายยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นปิโตรเคมีได้อีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการ CFP มากถึง 20,000 คน

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมการ เช่น โครงการน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไทยออยล์คือโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในประเทศไทย ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศมาโดยตลอด แม้ในยามเกิดวิกฤติก็ยังเดินเครื่องผลิตน้ำมันให้กับประเทศตลอดเวลา

ในอนาคตธุรกิจพลังงานจะมีการ Converge กันมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจเทเลคอม ที่โทรศัพท์ไร้สาย มีสาย อินเทอร์เน็ต สุดท้ายจะถูกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ในส่วนพลังงานก็เช่นกัน ทุกอย่างจะมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกันแม้ต้นกำเนิดและความสามารถในการแข่งขันต่างกัน แต่แกนของธุรกิจจะคล้ายกัน ผมเชื่อมั่นว่าธุรกิจพลังงานจะไม่ตายและไทยออยล์จะดำรงอยู่ได้อย่างแน่นอน แต่เราไม่ได้ต้องการจะแข่งกับใคร เพราะสุดท้ายอะไรที่รวมกันได้เราก็ช่วยกัน เดินหน้าไปด้วยกัน

 

60 ปี กับภารกิจความมั่นคงทางพลังงาน

มุ่งเติบโตอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม

วิรัตน์กล่าวว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไทยออยล์มุ่งเน้นในเรื่องของ Environmental, Social and Governance หรือ ESG อย่างมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเข้มข้น เพราะไทยออยล์มองว่าการที่องค์กรเติบโตมาได้ถึงปัจจุบัน ก็เพราะชุมชนมีส่วนร่วม ดังนั้น จึงต้องทำให้ชุมชนเติบโตไปพร้อมกับองค์กร

ในโอกาสครบรอบการดำเนินธุรกิจมาถึงปีที่ 60 ไทยออยล์ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืนและพร้อมเชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคมต่อไป รักษากลไกสำคัญของความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และก้าวเดินไปอย่างยั่งยืนแม้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ภายใต้ธีม “Bonding Human Life เชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคมเป็นการตอกย้ำบทบาทของไทยออยล์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของการส่งมอบคุณค่าในหลากหลายมิติสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติเพื่อให้ทั้งหมดเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่ว หรือน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 ได้เป็นแห่งแรกคือไทยออยล์ สำหรับมาตรฐานยูโร 5 ที่กำลังจะประกาศใช้อีก 3 ปีข้างหน้านั้น เมื่อโครงการ CFP แล้วเสร็จก็สามารถเริ่มการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้เลย และยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเพื่อเป็นการเชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม

วิรัตน์กล่าวต่อว่า ไทยออยล์ยังได้รับการยอมรับในหลายเวทีว่า เป็นผู้นำในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องของสิ่งแวดล้อม การมีธรรมมาภิบาล เป็นองค์กรต้นแบบในการจัดสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและการอยู่ร่วมกับสังคม จากบทพิสูจน์ที่สะสมมานานกว่า 60 ปี ในการเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ร่วมอย่างใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีความเจริญ พึ่งพาอาศัยดูแลซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ ยังเข้าไปดูแลชุมชนถึงการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข มีการสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้กับโรงพยาบาลแหลมฉบัง คลินิกทำฟัน ให้ทุนการศึกษา สร้างศูนย์สุขภาพและการเรียนรู้กลุ่มไทยออยล์เพื่อชุมชน มีหอพระให้ชาวบ้านสวดมนต์ทำสมาธิ สร้างลานกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงห้องสมุดให้นักเรียนมาใช้บริการ จัดเวทีที่พูดคุยสื่อสารกับชาวบ้านอยู่เสมอ เมื่อไหร่ที่บริษัทมีโครงการจะก่อสร้าง จะมีการสื่อสารให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้า จนชาวบ้านแถวนั้นเปรียบเสมือนรั้วของไทยออยล์

“ESG ถือเป็น DNA หลักของไทยออยล์ ต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี สร้างคนดี มีจิตสาธารณะ แต่ถ้ามองอีกด้าน ทางด้านธุรกิจ เราคือ เอ็นจิเนียร์ระดับหัวกะทิ เป็นโรงกลั่นที่ดี ต้นทุนการผลิตต่ำ ด้วย DNA นี้ผลิตภัณฑ์ของไทยออยล์จึงโดดเด่นในเรื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณค่าต่อชุมชน จึงเป็นที่มาว่าตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน เราพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า เป็นนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์สู่สังคมมาโดยตลอด และเราจะเดินหน้าต่อไป ภายใต้ธีม Bonding Human Life เชื่อมโยงคุณค่าสู่สังคม

 

ใช้ 30 ล้านดอลลาร์ หายูนิคอร์น

ตั้ง TOP Ventures รุกลงทุนใน Start up

วิรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยออยล์มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเดินหน้าในโครงการ CFP เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตแล้ว ไทยออยล์ยังสนใจในเทคโนโลยี วิธีคิด และการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างมาก โดยมีความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทน พร้อมกับได้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมในอนาคต จึงมีการตั้งหน่วยงาน Corporate Venture Capital ดำเนินการผ่านบริษัท TOP Ventures ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ 3 แนวทางหลักคือ

การเข้าไปลงทุนในกองทุน Venture Cap อื่นๆ เพื่อศึกษาว่าจะต้องลงทุนอย่างไร วิธีการค้นหาสตาร์ทอัพที่โดดเด่น

การผนึกกำลังกับกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนให้สตาร์ตอัพเติบโต ไม่ว่าจะเป็น Accelerator หรือ Incubator เพื่อเข้าไปใกล้ชิดกับจุดเริ่มต้นของธุรกิจสตาร์ตอัพ

การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ธนาคาร ศูนย์วิจัย เพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆในการเติบโต

ในด้านทิศทางของการลงทุนนั้น ไทยออยล์จะยึดใน 3 โฟกัสหลักคือ

        - Industrial Technology ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและไทยออยล์สามารถนำมาต่อยอดใช้ได้ เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์และ IoT (Internet of Things) ต่างๆ

         - Sustainability Technology ลงทุนในสตาร์ตอัพที่มุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีทางด้าน Specialty Chemical เช่น อาหารและเภสัชกรรม

         - Hydrocarbon Disruption Technology ลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านธุรกิจปิโตรเลียมโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการศึกษาแนวโน้มในอนาคต เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่

วิรัตน์เผยว่า รูปแบบการลงทุนของไทยออยล์จะมีทั้งการสนับสนุนเงินทุน และร่วมกันวิจัยพัฒนา วางโพสิชั่นเป็นพาร์ตเนอร์ โดยไทยออยล์เชื่อว่าโมเดลธุรกิจนี้จะสามารถสร้างรายได้ในระยะ 5-10 ปีจากนี้ โดยมีการตั้งงบลงทุนไว้ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน เราลงทุนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ กระจายอยู่ในอเมริกา ยุโรป อิสราเอล และจีน เพราะนี่คือแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพที่มีโอกาสที่จะเจอเพชรเม็ดงาม หรือยูนิคอร์นในอนาคต ตอนนี้เราเริ่มจากการลงทุนใน  Startup จากประเทศอเมริกาที่ผลิตเซนเซอร์พลังงานต่ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม และยังมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต” 


ติดตามคอลัมน์Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ฉบับที่ 463 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi