INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ฉัตรชัย ศิริไล

กรรมการผู้จัดการ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)


ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ภายใต้การนำของ ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 และครบวาระแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ได้ดำเนินการตามพันธกิจในการเป็นธนาคารของรัฐที่มุ่งทำให้คนไทยมีบ้านอย่างเข้มข้น คณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการวาระที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ในการเข้ารับตำแหน่งในวาระที่ 2 นี้ ฉัตรชัย ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า มีภารกิจที่ท้าทายคือ การทำให้ธนาคารมีความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมมุ่งสู่การเป็น Digital Banking พัฒนาทักษะบุคลากรขององค์กรและให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


ผลงานในวาระที่ 1

วางรากฐานที่แข็งแรงให้ ธอส.

ฉัตรชัยกล่าวว่า ในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการได้มุ่งมั่นทำตามพันธกิจในการทำให้คนไทยมีบ้าน ตลอดจนมุ่งมั่นในการเตรียมแผนยุทธศาสตร์เพื่อการก้าวสู่ Digital Banking รวมถึงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบดิจิทัลและทักษะความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแรงพอที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

การเตรียมพร้อมวางรากฐานธนาคารตลอด 4 ปีนั้นทำให้ ธอส. เป็นธนาคารที่มีความเข้มแข็งมาก เห็นได้จากในช่วงต้นปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธอส. ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารวม 10 มาตรการ สามารถช่วยลูกค้าได้กว่า 570,000 ล้านบาท และลูกค้าแข็งแรงกลับไปสู่สภาวะปกติแล้วกว่า 87%

อย่างไรก็ตาม แม้ ธอส.จะออกมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน แต่ความสามารถในการดำเนินการตามพันธกิจ ทำให้คนไทยมีบ้านไม่ได้น้อยลง โดยยังปล่อยสินเชื่อได้กว่า 225,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมากในภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ การกันสำรองของธนาคาร สูงถึง 96,000 ล้านบาท หรือ 202% ขณะที่ NPL 
อยู่ที่ 3.85%

สิ่งที่ทำในการรับตำแหน่งวาระแรกเป็นการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน ซึ่งการระบาดของ COVID-19 รอบแรกเป็นสิ่งที่มายืนยันว่าเราเป็นบ้านที่มีเสาเข็มที่แข็งแรงพร้อมที่จะรับพายุลมแรงได้ และในขณะเดียวกัน เราก็เอากำไรที่ได้ไปสร้างความแข็งแรงเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นธนาคารของรัฐที่พร้อมดำเนินนโยบายในการช่วยประชาชน


10 มาตรการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รอบที่ 1 (687,489 บัญชี : 576,139 ล้านบาท)

        มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

               มาตรการที่ 1 : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 0.01% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน

               มาตรการที่ 2 : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงเหลือ 1.00% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่รายได้ต่อเดือนได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง


        โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ

                มาตรการที่ 1 : พักชำระเงินต้น 3 เดือน และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

                มาตรการที่ 2 :  พักชำระเงินต้น 1 ปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เมื่อครบ 1 ปี สามารถแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระเพิ่มได้นานสูงสุดอีก 10 ปี

                มาตรการที่ 3 : พักชำระเงินต้น 6 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเหลือ 3.90% ต่อปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน

                มาตรการที่ 4 : ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่อยู่ระหว่างใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรืออยู่ในสถานะกฎหมาย

                มาตรการที่ 5 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท และรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท ธนาคารจะยกดอกเบี้ยที่พักชำระให้ลูกค้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการเมื่อสิ้นสุดระยะเวลากู้ตามสัญญา

                มาตรการที่ 6 : พักชำระเงินต้น 4 เดือน ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.00% ต่อปี สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถานพยาบาล

                 มาตรการที่ 7 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อประเภทแฟลตและสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance)                

                 มาตรการที่ 8 : พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับลูกค้าที่เคยลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 1, 2, 3, 4 และ 6


ดูแลลูกค้าอย่างครอบคลุม

มุ่งช่วยกลุ่มปริ่มน้ำ-ทางเลือกกลุ่ม Wealth

ฉัตรชัยกล่าวว่า หลังจากในช่วงวาระที่ 1 ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานหรือการวางเสาเข็มทำให้บ้านแข็งแรงแล้ว ในวาระที่ 2 จึงเป็นช่วงของการตกแต่งบ้าน โดยสิ่งที่ตั้งใจจะทำคือการดำเนินตามภารกิจของธนาคารให้คมขึ้นอีกคือ การทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายๆ  (Be Simple, make it Simple) สร้างความแข็งแรงในความเป็นรัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และเป็นกลไกของรัฐที่ดีในการดูแลลูกค้า ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของธนาคาร ควบคู่ไปกับลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูง นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการเรื่องดิจิทัลและการพัฒนาทักษะความสามารถพนักงานให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

หลังจากที่โครงสร้างบ้านแข็งแรงแล้ว ในวาระที่สองจึงเป็นขั้นตอนของการตกแต่งบ้าน ทั้งในด้านการดูแลลูกค้าให้ครบทุกกลุ่ม การพัฒนาด้านไอที และสิ่งสำคัญคือ พนักงานและระบบงานของแบงก์ต้องพร้อมปรับตัวและรับมือได้ทุกสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เมื่อมีปัญหากระทบกับการดำเนินงานตามภารกิจ

ดังนั้น ในฝั่งของลูกค้า ธอส. ยังคงมุ่งมั่นในการทำตามพันธกิจเดิมคือเป็นธนาคารของรัฐที่ทำให้คนไทยมีบ้าน โดยในปี 2564 ภายใต้การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 215,641 ล้านบาท หรือเติบโต 3% จากเป้าหมายของปี 2563 NPL 
ไม่เกิน 3.30%

อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ยังมีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส. เป็นลูกค้ารายย่อย ดังนั้น ธอส.จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มอีก 4 มาตรการ ซึ่งต่างจาก 10 มาตรการเดิมที่มีลักษณะเป็นการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย โดย 4 มาตรการใหม่จะเป็นการให้ลูกค้าชำระตามความสามารถและนำเงินที่ลูกค้าชำระมาตัดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

สำหรับ 4 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าจาก COVID-19 ระลอกใหม่ เป็นการให้ลูกค้าชำระได้ตามความสามารถ เป็นการใส่ออกซิเจนให้เขาพ้นระยะวิกฤติ และสิ่งสำคัญคือ การที่ยังมีการติดต่อกันระหว่างลูกค้าและธนาคาร ซึ่งช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าได้และช่วยลูกค้าได้ทันกาลก่อนจะเป็น NPL”

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการลูกค้ากลุ่มรายได้สูงหรือกลุ่ม Wealth ธอส. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น สลากออมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มนี้เช่นกัน

 “ลูกค้าของ ธอส. มี 2 กลุ่มคือ ลูกค้ารายย่อย รายได้น้อยและรายได้ปานกลางหรือจะเรียกลูกค้าผู้มีรายได้น้อยว่าลูกค้าปริ่มน้ำ ก็ได้ซึ่งเป็นลูกค้าตามภารกิจกลุ่มใหญ่ของธนาคารและกลุ่ม Wealth หรือคนบนฝั่ง ซึ่งเราต้องดูแลทั้งสองกลุ่มต้องช่วยคนปริ่มน้ำและเป็นทางเลือกของคนกลุ่ม Wealth”


4 มาตรการในการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้

จาก COVID-19 ระลอกใหม่  โดยอยู่ใน โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564

        มาตรการที่ 9 : สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติคือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15-29 มกราคม 2564

        มาตรการที่ 10 : สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL 
ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม-26 กุมภาพันธ์ 2564

        มาตรการที่ 11 : สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติคือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1-26 กุมภาพันธ์ 2564

        มาตรการที่ 12 : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น 1.ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564 หรือ 2.พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

 

Digital Platform สไตล์ ธอส.

เน้นฟังก์ชั่นไม่เน้นแฟชั่น

ฉัตรชัยกล่าวว่า ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ธอส. ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการลูกค้า หรือเรียกว่าเป็น Digital Service ขณะที่ในปี 2564 จะเป็นการวาง Road Map ในการมุ่งสู่การเป็น Digital Banking ในปี 2565

ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานไอทีของ ธอส. ที่แข็งแกร่งสามารถรับกับปัญหาในช่วงที่ผ่านมาได้ จากนี้ไปต้องทำให้เกิดการผลิดอกออกผลให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของแบงก์รัฐได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารได้ใช้ยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้น โดยมีเป้าหมายว่าในอนาคตต้องมีลูกค้าติดต่อทำธุรกรรมผ่านที่ Counter สาขาไม่เกิน 5% ขณะที่อีก 15% สามารถทำธุรกรรมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หน้าสาขาได้ และลูกค้าอีก 80% สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile Application 
ของธนาคารด้วยตัวเองได้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าถึงเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก โดยยอดธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ราว 70%

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี ธอส. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มของธนาคารโดยกำหนดเป็น 3 เฟส ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการในเฟสที่ 3 ที่จะสมบูรณ์ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยจะเป็นแพลตฟอร์มพร้อมสำหรับทุกประเภทการให้บริการของ ธอส.บนโทรศัพท์มือถือ

 ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อจะทำเพียงการยื่นคำขอกู้ผ่าน Mobile Application : GHB ALL เท่านั้น เนื่องจาก ธอส. มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกระบวนการพิจารณายังมีความจำเป็นในการพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุด

แพลตฟอร์มดิจิทัลที่พัฒนาต้องเป็นสไตล์ของ ธอส. คือ ออกแบบในมุมของลูกค้า ให้ลูกค้าใช้งานได้ง่าย ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นมากกว่าแฟชั่น เช่นให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้เงินกู้ ยื่นขอสินเชื่อ บริการเงินฝาก ได้ง่ายโดยไม่ต้องไปสาขา

 

พัฒนาคน-ปรับรูปแบบสาขา

ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การก้าวสู่การเป็น Digital Banking ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและ Attitude ของบุคคลากรในองค์กร แม้ว่า  ธอส. จะมุ่งสู่การเป็น  Digital Banking และตั้งเป้าให้ลูกค้าใช้บริการที่สาขาลดลง แต่ ธอส.ไม่มีนโยบายปิดสาขาและไม่ลดจำนวนพนักงาน โดยจะปรับรูปแบบสาขาให้เล็กลงและมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และเพิ่ม Productivity ต่อหัวของพนักงานทุกคน

ในแต่ละสาขาจะใช้พนักงานน้อยลง โดยปัจจุบัน ธอส. มีพนักงาน 5,000 คน เป็นพนักงานสาขา 3,000 คน และทำงานในออฟฟิศกลาง 2,000 คน โดยต้องทำการ Up-Skill และ Re-Skill พนักงานให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นภายใต้ Operation cost 
ที่ลดลง

นอกจากนี้ ภายใต้การที่ ธอส. ไม่เพิ่มและไม่ลดคน ธุรกิจยังต้องขยายได้ โดยต้องเปลี่ยนวิธีคิดของพนักงานด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ต้องสามารถทำงานได้ทุกที่ ต้องปรับการทำงานโดยไม่นั่งรอลูกค้าเหมือนที่ผ่านมาแต่เป็นการออกไปหาลูกค้า

การเป็น Digital Banking ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมีสาขาขนาดใหญ่เหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องปรับให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สำหรับพนักงานที่เมื่องานถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีก็ไปทำงานในด้านอื่น ต้องเข้าใจผลิตภัณฑ์ของธนาคาร และใช้เทคโนโลยีของธนาคารในการหาลูกค้าได้ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนทั้งกระบวนการ โดยคาดว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะได้เห็น ธอส. ในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ ในวาระที่สองยังมีการทดสอบบทใหม่คือการบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆของธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การบริหารความเสี่ยงและการปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามากระทบกับธนาคารจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน ธอส. ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วแต่อาจไม่เร็วเท่าภาคเอกชนเนื่องจากมีข้อจำกัดในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่ถือว่าเร็วพอที่จะอยู่รอดได้

ความท้าทายของการบริหารความเสี่ยงคือ การต้องมองเห็นไกลกว่าคนอื่น และจัดการให้เร็ว เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ เดือนหน้า ไตรมาสหน้า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้น ต้องพร้อมในการรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะมากระทบ ในขณะเดียวกัน แบงก์ต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดอีกต่อไป แต่คือคนที่ปรับตัวได้เร็วที่สุดในทุกสถานการณ์

ผลงานติดดาว ภายใต้การบริหาร ฉัตรชัย ศิริไล

ตลอดระยะเวลา ที่ ฉัตรชัย ศิริไล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้สร้างสรรค์ผลงานการบริหารที่สำคัญไว้มากมาย เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการทำให้คนไทยมีบ้าน จนทำให้ได้รับรางวัลแห่งความภูมิใจหลากหลายรางวัล

 

ผลงานการบริหารที่สำคัญ

        1. โครงการบ้านล้านหลัง

        2. โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ

        3. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาทได้เป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี เมื่อปี 2561 และทำได้ต่อเนื่องในปี 2562 และ 2563

        4. พัฒนาระบบงานหลัก Core Banking System
(ระบบคอมพิวเตอร์หลักของธนาคาร : GHB System)

        5. ปรับปรุงช่องทาง Digital Service และโครงการ Payment Gateway อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วย Application (Mobile Application : GHB ALL, GHBank Smart NPA, GHBank Smart Booth) GHB Mobile Deposit เครื่องฝากเงินประชารัฐ เครื่องชำระเงินหนี้กู้อิเล็กทรอนิกส์ LRM เครื่องชำระเงินกู้ไร้เงินสด QR Non Cash Payment

        6. แก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่งผลให้จำหน่ายสลากออมทรัพย์และ Reverse Mortgage ได้

        7. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยและรางวัลจากสลากออมทรัพย์ และดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์


รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

        1. รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ประจำปี 2561

        2. รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2561

                - รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น กลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่

               - รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร

           2.3. รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทเชิดชูเกียรติ

        3. รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562

               - รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม

               - รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น

               - รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร ประเภทชมเชย

        4. รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศเทียบเท่ามาตรฐานโลก และไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทยได้รับรางวัล TQA 
มาเป็นเวลานานถึง 10 ปี

        5. รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2563

               - รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น

               - รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร ประเภทดีเด่น

               - รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล ประเภทเชิดชูเกียรติ

        6. รางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA Awards) ประจำปี 2563 โดย ธอส. ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 99.60 คะแนน (คะแนนประเมินสูงสุดอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2560-2563)

        7. Global Performance Excellence Awards 2020 ประเภท Best in Class ซึ่งเป็นรางวัลการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นเลิศในระดับภูมิภาAsia Pacific และเทียบเท่ามาตรฐานโลก




ติดตามคอลัมน์ Special Interview  ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  2564 ฉบับที่ 466 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi