INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ขัตติยา อินทรวิชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

 

The Women's Empowerment

นำ KBank ก้าวสู่

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่

 

 “การลงจากตำแหน่งในภาวะวิกฤติเป็นเรื่องดี เพราะได้ทดสอบฝ่ายบริหารจัดการ ลงจากตำแหน่งตอนที่วุ่นวายทดสอบทีมใหม่ดีที่สุด หากรับมือตอนวิกฤติได้จะรับมือตอนไหนก็ได้ รับมือตอนนี้ได้ก็สอบผ่าน จังหวะนี้ดีที่สุดแล้ว

ถ้อยคำของ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวไว้ หลังจากตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารกสิกรไทย อำลางานบทบาท นายธนาคารที่ใช้เวลาดูแลธุรกิจของตระกูล ล่ำซำมานานกว่า 40 ปีเพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงเก่งมารับไม้ต่อ เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธนาคารกสิกรไทย

ย้อนไปในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ซึ่งตรงกับวันเกิดของ ขัตติยา อินทรวิชัย คณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยมีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ และได้มีผลอย่างเป็นทางการหลังวันประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหม้อคนสำคัญของธนาคารกสิกรไทย เริ่มแรกจากการเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ปี 2530 ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ (การเงินและการลงทุน) จาก University of Texas at Austin ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มงานกับธนาคารกสิกรไทยที่ฝ่ายสินเชื่อการเกษตรและการผลิต สั่งสมประสบการณ์เรียนรู้งานในหลายด้านสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาแล้ว 9 ฝ่ายงาน ก่อนจะได้รับหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) และก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 3 เมื่อต้นปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นกรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของธนาคารกสิกรไทยด้วยเช่นกัน

ระยะเวลากว่า 32 ปีที่ขัตติยาได้เรียนรู้และเผชิญโจทย์ท้าทายมามากมาย จนกระทั่งได้ขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้หญิงคนแรก และพ่วงด้วยการเป็นคนนอกตระกูลล่ำซำคนแรกในตำแหน่งนี้อีกด้วย ขัตติยาได้กล่าวถึงโอกาสครั้งสำคัญที่ได้รับในครั้งนี้ว่า

ตื่นเต้นและดีใจ ขอบคุณคณะกรรมการธนาคาร ผู้ถือหุ้น และทุกฝ่ายที่มอบความไว้วางใจให้ขัตติยาและทีมผู้บริหารทุกคนได้สานต่อสิ่งที่ตระกูลล่ำซำสร้างมาตลอด 75 ปีให้อยู่ในการดูแลของทีมบริหารชุดใหม่ และจะทำหน้าที่ดูแลธนาคารกสิกรไทยให้ดียิ่งขึ้นไปให้สมกับที่ไว้วางใจ

ขัตติยาเปิดเผยว่า จากนี้จะต้องมุ่งเน้นงานในเส้นทางของซีอีโอเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องยากๆ หรือการจัดสรรทรัพยากรของธนาคารในด้านต่างๆ ให้พร้อมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องโชคดีที่ธนาคารกสิกรไทยมีคนเก่งที่จิตใจดีรวมอยู่มาก การที่คณะกรรมการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่ใช่ว่าเลือกขัตติยาคนเดียว แต่เลือกทีมทั้งหมดด้วย และมองว่าภายใต้การนำของขัตติยาจะนำพาธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าต่อไปได้

มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า “Lucky is what happens when preparation meets opportunity.” หมายความว่า ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากความโชคดีล้วนๆ แต่โชคดีเกิดจากการเตรียมความพร้อม บวก โอกาส หมายความว่า เราต้องมีความพร้อม เมื่อโอกาสมาถึง จึงจะเกิดโชค ต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ขัดเกลาและเตรียมความพร้อมให้ตัวเองเสมอ สำหรับทุกๆ โอกาสที่จะเข้ามา

ขัตติยาบอกด้วยว่า เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้รับโอกาสย่อมต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ซึ่งนัยสำหรับองค์กรคือ ในการบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องย้อนมองดูว่าองค์กรได้ให้โอกาสคนอย่างเต็มที่ และได้ให้ความเท่าเทียมแล้วหรือยัง ซึ่งจากการทำงานมายาวนาน ได้ประสบกับตนเองแล้วว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนโดยไม่แบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การฝึกอบรมพัฒนาความรู้ต่างๆ ให้โอกาสในการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำงานที่ท้าทายและได้แสดงความสามารถ

ไม่เคยรู้สึกว่ามีการแบ่งชายหญิงในการทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย และคนรอบข้างก็ไม่ปฏิบัติอะไรแตกต่างไปในการทำงานเพียงเพราะเป็นผู้หญิง ทุกคนยึดเป้าหมายส่วนรวมในการทำงานเป็นสำคัญ วันนี้ในฐานะซีอีโอคงไม่เป็นซีอีโอที่คอยชี้ แต่ต้องทำให้ทุกคนชี้ไปในทางเดียวกัน ดั่งคำที่พูดว่า “If you want to go fast, go alone. If you want to go far, go together.”

 

ถอดบทเรียนจากในอดีต

สร้างอนาคตที่แข็งแกร่ง

ขัตติยากล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นั่นเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ธนาคารสามารถผ่านช่วงเวลาวิกฤติมาได้ นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาจนถึงวิกฤติโรดระบาดโควิด-19

ถ้ามองข้อแตกต่างระหว่างวิกฤติโควิด-19 เทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ข้อดีคือ ค่าเงินเป็นแบบลอยตัวแล้ว และไม่มีการเก็งกำไรหุ้น หรือด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ในครั้งนี้ไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง และ สภาพเศรษฐกิจที่ GDP ไม่ได้เติบโตมากติดต่อกันมาระยะหนึ่งแล้ว

ความท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน คือโจทย์ในวันนี้หนักมากกว่าในอดีต เพราะมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย (Recession) การเผชิญหน้ากับกระแส Disruption ภัยแล้ง และยังมี โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งทุกโจทย์ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกๆ คนที่อาจจะส่งผลต่อการจ้างงานจนกลายเป็นปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคาร

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารของไทยมีความแข็งแรงกว่าอดีตซึ่งสามารถยืนได้อย่างมั่นคงเพราะมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง บทเรียนจากอดีตทำให้ธนาคารเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา

ธนาคารไม่เหมือนธุรกิจทั่วไป จะหยุดทำงานไม่ได้ เพราะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และ ธนาคารกสิกรไทยมีความสามารถในการทำสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ เพราะเรามีทรัพยากร ทั้งด้านเงินทุน มีคนเก่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญ มีใจที่จะทำเพื่อสังคม สถานการณ์ตอนนี้ทุกคนต้องคิดเพื่อส่วนรวม ต้องคิดให้มากกว่าโจทย์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเป็นองค์กรที่มีผลต่อสังคมยิ่งต้องมีความรับผิดชอบสูง

ขัตติยากล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีทีมที่เก่ง มีนวัตกรรม (Innovation) และหลักคิดที่ดี ทีมผู้บริหารที่เคยนำธนาคารฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งมาก็ยังอยู่กับธนาคารจนถึงวันนี้ ขณะที่ทีมบริหารความเสี่ยงมีประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤติมาอย่างเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังได้ผู้บริหารใหม่ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้าใจรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน รวมทั้งยังมีทีม KBTG ที่เชี่ยวชาญด้าน Technology พร้อมจะวิ่งต่อไปข้างหน้าหลังฟื้นตัวจากวิกฤติ

ปัจจุบันธนาคารได้ตั้ง 2 ทีมงานสำคัญเพื่อรับมือกับวิกฤติ แบ่งเป็นทีมปัจจุบันและทีมอนาคต ที่จะคอยคิดวิธีว่าต้องควบคุมสถานการณ์อย่างไร เพื่อปกป้องพนักงานของธนาคารและปกป้องลูกค้าด้วย เช่นที่ธนาคารกสิกรไทยเป็นแห่งแรกที่ตัดสินใจปิดทำการเคาน์เตอร์แลกเงินชั่วคราวเพราะเล็งเห็นว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาดของโรค

ขณะเดียวกัน ต้องมองไปถึงภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย โดยการจัดการที่จะเร่งทำให้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน หลักๆ มี 3 ข้อ คือ

 ต้องส่งเงินทุนไปให้ถึงยังหน่วยเล็กๆ ให้ได้มากที่สุด ในระยะสั้นเป็นโจทย์เรื่องการช่วยเหลือภาระหนี้ของลูกค้า ส่วนในระยะยาวเป็นโจทย์การขยายบริการทางการเงินให้ไปยังลูกค้ารายรายเล็กให้ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ควรเร่งทำเป็นอันดับต้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโจทย์ของธนาคารทั้งในฐานะคนทำธุรกิจและพลเมืองของประเทศ

 การจัดการด้านต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity Management) เพื่อให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการถึงลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ราคาถูกลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบของทางการ ซึ่งหากมองในระดับประเทศแล้วต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยของต้นทุนในระบบประเทศ ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อีกมาก เพื่อให้แรงงานการผลิตมีค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญมากในการให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจนี้

 การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงาน ให้พร้อมรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีทีมผู้บริหารเก่งๆ อยู่มาก เจตนาดีมากๆ หน้าที่ของซีอีโอคือ ต้อง Integrate สิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เกิดการรวมพลัง เพราะสูตรของธนาคารกสิกรไทย 1+1 ต้องได้มากกว่า 2

โลกเปลี่ยนไป ปัจจัยที่จะมาสั่นคลอนและท้าทายมีมากขึ้น แต่ธนาคารกสิกรไทยจะต้องอยู่ทุกที่กับลูกค้า และทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าอยู่กับเราแล้ววางใจได้ วันนี้อาจยังไม่รู้ชัดว่า หลังจากนี้ธุรกิจธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปลักษณ์ไหน แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ ต้องมีแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ (Change Mind Set) แม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ธนาคารต้องได้ยินเสียงลูกค้า

 

ความพร้อมบวกโอกาส

คือความสำเร็จในอนาคต

ขัตติยากล่าวอีกว่า เหตุการณ์ต่างๆ ในภายภาคหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เหนือการคาดการณ์ได้มากมาย ธนาคารต้องก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา (A Step Ahead Forever) และก้าวด้วยฐานะผู้นำในการทำธุรกิจ และต้องริเริ่มสร้างสิ่งที่ดีกว่า (A Pioneer for the Better) เพื่อทำให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ โดยธนาคารจะเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าทุกๆ คน ทั้งด้านเงินทุน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน (Empower Every Customer’s Life and Business)

ทั้งนี้ แม้ธุรกิจจะเดินหน้าได้ด้วยตัวเองแต่ย่อมต้องเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ต้องสร้างทัศนคติให้คนในองค์กรเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของชีวิตแต่ต้องดักทางการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ เป็นไปตามสมการที่ว่า การเตรียมความพร้อมบวกด้วยโอกาสคือความสำเร็จ

คนของธนาคารกสิกรไทยต้องกล้าลองสิ่งใหม่ แม้จะล้มได้แต่ต้องลุกให้เร็ว ล้มเพื่อไปต่ออย่ายอมแพ้ การลองสิ่งใหม่พลาดได้แต่ต้องพลาดโดยไม่ทำแบงก์เซ (Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward) สิ่งไหนที่ทำดีแล้วไม่ใช่แค่ทำต่อไป แต่จะต้องทำให้ดีทำให้เร็วกว่าเดิม

ขัตติยากล่าวว่า ธนาคารยังเดินหน้าตามเส้นทางที่วางไว้ภายใต้ ยุทธศาสตร์ 8 Transformation Journeys ซึ่งถือเป็นความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการขยายขีดความสามารถของธนาคารในการให้บริการลูกค้า ดังต่อไปนีี้

      - Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการร่วมกันสร้าง Ecosystem ซึ่งมีธนาคารทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้า ควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการขายและให้บริการของธนาคาร เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการในลักษณะ Integrated Solution โดยใช้จุดแข็งของทั้งธนาคาร และพันธมิตร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

       - Intelligent Lending ต่อยอดการใช้ศักยภาพด้าน Data Analytics โดยการผสานศักยภาพของบุคลากรทั้งในด้านประสบการณ์ การวิเคราะห์ข้อมูล เข้ากับความความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเสนอสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ในเวลาที่ลูกค้าต้องการ บนช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว

      - Proactive Risk & Compliance Management การบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการระบุความเสี่ยง และการกำหนดแนวทางในการป้องกัน ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลสถาบันการเงิน

     - New Growth in Regional Market การสร้างการเติบโตในตลาดภูมิภาค CCLMVI โดยการเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า ผ่านโครงการ Borderless Payment และการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับลูกค้าบุคคลในประเทศจีน ทั้งนี้ แม้สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ธนาคารต้องเน้นดูแลลูกค้าในประเทศมากขึ้น แต่เป้าหมายที่จะเติบโตในระดับภูมิภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป

      - Data Analytics ธนาคารมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Bank) โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอก การยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน

       - Cyber Security & IT Resilience การยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี และการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน

       - Performing Talent and Agile Organization การพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคล การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในองค์กรที่ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกองค์กร ออกแบบโครงสร้างองค์กรที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญนอกเหนือจากโครงสร้างองค์กร คือการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

      - Modern World Class Technology Capability การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ส่งเสริมให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค

ขัตติยากล่าวด้วยว่า เป้าหมายสำคัญในบทบาทซีอีโอของธนาคารกสิกรไทยคือการ ทำให้ทีมเป็นทีมที่แข็งแกร่ง (Empower Team) รวมทั้งต้องให้ทุกคนเชื่อในทีม (Trust) อย่างเข้าใจกันและกัน ซึ่งคำว่าทีมของขัตติยา ไม่ใช่แค่คนในที่ทำงานแต่รวมถึงคนในครอบครัว

งานจะหนักเบายังไง ต้องทำให้ตัวเองสุขภาพดีเพราะถ้าสุขภาพเสียทุกอย่างจะพังหมด รวมทั้งต้องรักษาสมดุลของชีวิตค้นหาว่า สิ่งที่เป็นความสุขของเราจริงๆ คืออะไร แล้วจัดเวลาให้กับคนที่ควรได้เวลา กลับไปหาคนที่รักเราเพื่อเป็นการเติมพลังงานให้ตนเอง

ขัตติยากล่าวอีกว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทยทุกคนล้วนมีโอกาสเสมอ ขอเพียงมีความพยายามตั้งใจและพาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ มีโอกาสก็ประสบความสำเร็จได้ ธนาคารกสิกรไทยเป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนในองค์กรได้เติบโตไปพร้อมกับธนาคารผ่านโครงการต่างๆ เช่น

โครงการ KCapstone เป็นโครงการฝึกงานที่เปิดรับนิสิตนักศึกษาให้เข้าร่วมฝึกงานในรูปแบบใหม่ เรียนรู้การทำงานแบบสตาร์ตอัพ รวมถึงพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นในโลกการทำงานในยุคปัจจุบัน

โครงการ KBank Young Scholarship และ KBTG Young Tech Scholarship ที่ให้ทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวน แก่กลุ่มนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อเข้ามาร่วมงานกับธนาคาร และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

โครงการทุนการศึกษาของธนาคารกสิกรไทย เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโท ทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลภายนอก และพนักงานของธนาคาร เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถเป็นผู้นำองค์กรได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในชีวิตและการทำงานกับธนาคารเรายังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความรู้ และการทำงานอย่างสร้างสรรค์ เช่น การเรียนรู้ผ่าน ออนไลน์ แพลตฟอร์มชั้นนำทั้งในไทย และระดับโลก (KBank Digital Academy), อ่านหนังสือออนไลน์จากแอปฯ ไม่จำกัด, Chatbot เพื่อช่วยตอบคำถามพนักงาน, Co-working Space ให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้, การสร้างเวทีให้แก่พนักงานที่มีไอเดียที่ดีๆ มานำเสนอ ซึ่งนอกจากจะได้เงินรางวัลแล้ว หลายๆ ไอเดียได้มีการทำไปทำต่อให้เกิดขึ้นจริง

 

ติดตามคอลัมน์ Special Interview  ได้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ฉบับที่ 457 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi