INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ดร.รักษ์

วรกิจโภคาทร

กรรมการและผู้จัดการทั่วไป

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)


เป็นเวลากว่า 28 ปีแล้วที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันหรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่ต้องการ

สิ่งที่ผมทำตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบสย. คือการเปลี่ยนแปลงและสร้างให้องค์กรแห่งนี้ไม่ใช่เสือหลับอีกต่อไปทำให้การค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากเดิมที่เคยกำหนดว่าเป็นธนาคาร 18 แห่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs 6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะหน้าที่ของเราคือช่วยเถ้าแก่และคนตัวเล็ก

บสย.เคยเป็นเพียงกระดาษ A4 แนบท้าย 2 ใบเจอลูกค้าเพียงครั้งเดียวคือตอนที่เกิดหนี้เสียและบสย.ต้องจ่ายค่าค้ำประกันเป็นการเจอกันตอนที่ลูกค้าล้มเหลวและมาขอประนอมหนี้ส่วนตัวผมไม่อยากเจอลูกค้าตอนนี้ผมอยากเจอลูกค้าตอนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองมากกว่าด้วยนโยบายเสือตื่นบสย. จะทำทุกทางเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้ก้าวต่อไปให้ได้

และในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกทั้งจากปัจจัยสงครามการค้าภาวะค่าเงินบาทแข็งตัวการเกิด Disruption ของภาคอุตสาหกรรมรวมไปถึงการเกิดโรคระบาด COVID-19 การย้ายฐานการผลิตของกลุ่มทุนในประเทศและนอกประเทศทำให้ในปี 2563 บสย. พร้อมเดินหน้าเปิดเกมรุกเดินนโยบายช่วยเหลือ SMEs ทั้งขนาดเล็กกลางใหญ่อย่างเข้มข้นกอดคอผู้ประกอบการ SMEs ให้ผ่านวิกฤตินี้ให้ได้

การเงินธนาคารได้สัมภาษณ์พิเศษดร.รักษ์วรกิจโภคาทรกรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถึงภาพรวมของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยเหตุและผลของการเกิดและปิดตัวของธุรกิจมาตรการของบสย. ในการช่วยเหลือ SMEs ทุกระดับตลอดจนการเดินหน้านโยบาย เสือตื่นที่ดำเนินการจากภายในสู่ภายนอกทรานฟอร์มตัวเองสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs


ปี 62 สินเชื่อ SMEs ติดลบ 2% 

การแข่งขันกระจุกตัวในประเทศ

ดร.รักษ์ฉายภาพอุตสาหกรรมว่าปัจจุบันภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงชะลอตัวโดยในปี 2562 การเติบโตของสินเชื่อ SMEs ติดลบประมาณ 2-3% จากปริมาณสินเชื่อ SMEs ทั้งระบบจำนวน 6 ล้านล้านบาทซึ่งหากมองในภาพรวมนั้นการปิดกิจการมีสัดส่วนมากกว่าการเกิดธุรกิจใหม่แม้จะมีกระแสเรื่องการปลุกปั้นธุรกิจสตาร์ตอัพให้เติบโตซึ่งมีบางธุรกิจสำเร็จแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยอยู่และเมื่อเจาะลงไปที่ปริมาณหนี้เสียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5%

นโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาตลอดคือการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาจนเป็นที่มาของมาตรการ ต่อเติมเสริมทุน SMEs สร้างไทยซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังธุรกิจที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจที่ต้องเผชิญกับกระแส Disruption เพราะธุรกิจเหล่านี้มีผลกระทบกับอัตราการจ้างงานของประเทศไทยหากธุรกิจไปต่อไม่ได้ก็จะเกิดการเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างก็จะกลายเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพทำตามความฝันของตัวเองต่อไป

เมื่อกลับมาดูที่ธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยซึ่งการเป็นสตาร์ตอัพจะต้องมีส่วนผสมของสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมหากดูสถิติของสตาร์ตอัพในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกานั้นใน 100 คนจะมีคนที่สามารถก้าวเป็นผู้ประกอบการสตาร์ตอัพและประสบความสำเร็จได้เพียงแค่ 5 คนเท่านั้นแต่ความสำเร็จของ 5 คนนี้มากพอที่จะครอบคลุมมูลค่าของคนทั้ง 95 คนได้เพราะเมื่อสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จจะเติบโตเร็วมากไม่ว่าจะเป็น Facebook Google Grab เมื่อประสบความสำเร็จก็สามารถที่จะขยายการเติบโตออกไปได้ทั่วโลก

ขณะที่อัตราการประสบความสำเร็จของสตาร์ตอัพในประเทศไทยมีไม่ถึง 2% และใน 2% นี้ยังไม่มีใครที่สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับยูนิคอร์นได้ความสำเร็จของสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่มักจะมาจากการสานต่อธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นการแยกออกมาทำธุรกิจใหม่โดยที่มีต้นทุนเดิมอยู่ ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ไม่ใช่สตาร์ตอัพที่แท้จริง

ดร.รักษ์ขยายภาพลงไปอีกว่าเมื่อย้อนกลับมาที่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างและได้รับเงินชดเชยมาจำนวนหนึ่งส่วนใหญ่ก็จะหันมาเปิดร้านกาแฟร้านขนมร้านอาหารตามกระแสร้านดังที่ประสบความสำเร็จแต่กลับไม่มีจุดขายเป็นของตัวเองและหากดูตามสถิติแล้วธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเป็นหนี้เสียสูงที่สุดอีกด้วย

จากอัตราการปิดตัวของธุรกิจที่มากกว่าการเกิดธุรกิจใหม่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายของทุนไทยและต่างประเทศไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงแต่ยังอยู่ภายในตลาดที่มีประชากรเพียงแค่ 70 ล้านคน

ดร.รักษ์กล่าวต่อว่าปัจจุบันธุรกิจ SMEs ภายในสัมมะโนธุรกิจมีจำนวน 3 ล้านรายนอกสัมมะโนธุรกิจคืออาชีพอิสระมีจำนวน 2.7 ล้านรายประเด็นสำคัญคือคนจำนวน 5.7 ล้านต่างแข่งขันทั้งทางตรงและทางอ้อมนำเสนอสินค้าและบริการภายในประเทศไทยซึ่งมีประชากรเพียงแค่ 70 ล้านคน

ทุกคนเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกันเพราะทั้ง 6 ล้านรายมีธุรกิจ SMEs ที่ขยายตัวออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศเพียง 25,000 รายเท่านั้นจำนวนผู้ส่งออกนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมาตลอด 20 ปีด้านธุรกิจ SMEs ที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยมีอีกไม่เกิน 30,000 รายนับรวมทั้งหมดมี 50,000 รายคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้านั่นทำให้ธุรกิจที่เหลืออีก 5.9 ล้านรายแข่งกันเองในประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

Ecosystem ไทยไม่เอื้อให้เกิดธุรกิจ

แนะแยกทายาทออกจากสตาร์ตอัพ

ดร.รักษ์ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่อัตราการปิดตัวของธุรกิจ SMEs มากกว่าการเกิดนั้นล้วนมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า 1. ผู้ประกอบการกำลังสู้กันเองเพราะ 98% ของ SMEs ล้วนเป็นสินค้าที่พึ่งพากระเป๋าเงินของผู้บริโภคภายในประเทศ2. เครื่องยนต์ที่ใช้สนับสนุนทั้งการใช้จ่ายในประเทศการลงทุนจากรัฐและเอกชนตลอดจนการส่งออกในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งตัวทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพผู้ประกอบการไม่ยอมลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแม้ว่าจะมีการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง (Transformation Loan) อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปีก็ตาม

ผู้ประกอบการมักคิดว่าทำไมจะต้องมีหนี้เพิ่มขึ้นหรือทำไมไม่ช่วยกระจายสินค้าหรือลดดอกเบี้ยเดิมนั่นเพราะเรามักจะคุ้นเคยกับระบบอ้าอมเคี้ยวกลืนที่มีคนคอยป้อนทุกอย่างให้มาตลอดไม่เคยพบเจอกับความยากลำบากที่แท้จริงการที่คนจะก้าวมาทำธุรกิจและประสบความสำเร็จกลายเป็น Facebook Google Amazon นั้นมีโอกาสน้อยมากนั่นเพราะ Ecosystem ของไทยในเวลานี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ประกอบการเหมือนเมื่อ 100 ปีที่แล้วซึ่งทุกคนต้องเผชิญความยากลำบาก

ดร.รักษ์ให้ความเห็นต่อว่าโมเดลพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพของประเทศไทยควรต้องเปลี่ยนจากโมเดลสตาร์ตอัพในยุโรปและอเมริกาซึ่งมีระบบศิษย์เก่าที่เข้มแข็งกระตุ้นจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยทำให้ทุกคนแข่งขันกันเพื่อเป็นคนที่ถูกเลือกแต่สำหรับประเทศไทยนั้นต้องมองลึกไปถึงพื้นฐานของแต่ละคนที่แตกต่างกันการนำสูตรสำเร็จใดๆมาแนะนำจำเป็นจะต้องคำนึงถึงพื้นฐานที่แตกต่างกันด้วยเช่นสตาร์ตอัพนั้นเป็นทายาทธุรกิจครอบครัวหรือไม่หรือเป็นสตาร์ตอัพที่ตั้งจากศูนย์ไม่มีต้นทุนใดสนับสนุนเพราะทั้ง 2 กลุ่มจะมีวิธีเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

สำหรับสตาร์ตอัพที่เริ่มต้นจากศูนย์พ่อแม่ไม่ได้เป็นเศรษฐีไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมเครื่องมือที่ใช้ก็คือความฝันความชอบที่มาจากใจสตาร์ตอัพจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จเริ่มต้นจากความฝันและความชอบอย่างแท้จริงหากเริ่มต้นจากความรู้ลึกรู้จริงขยี้จนถึงแก่นลงไประดับอะตอมนั่นถือเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกสู่ความสำเร็จแล้วขณะที่กลุ่มทายาทธุรกิจสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือความจงรักภักดีในแบรนด์สินค้านั้นไม่มีในผู้บริโภคยุคปัจจุบันอีกต่อไปไม่ว่าก่อนหน้าจะทำมาดีเพียงใดก็ตามหากไม่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงการจะอยู่รอดต่อไปก็เป็นเรื่องยาก


พร้อมเดินหน้าหนุน SMEs รุ่นเก๋า

พยุงเถ้าแก่ให้ตัวเบาไร้แผลมีอนาคต

ดร.รักษ์กล่าวว่ารัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เนื่องจากมีอัตราการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของคนในประเทศหากรัฐบาลสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้ก็จะส่งผลไปยังการจ้างงานในประเทศด้วยจึงเป็นที่มาของโครงการ ต่อเติมเสริมทุน SMEs สร้างไทยมุ่งเน้นทำให้อัตราการเลิกจ้างงานน้อยลงยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างผลกระทบกับภาคธุรกิจอย่างมากโดยภายในโครงการฯจะถูกแบ่งออกเป็น 3 เรื่องดังนี้

       1. ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ตัวเบา ด้วยการยืดระยะเวลาชำระหนี้พักเงินต้นและลดดอกเบี้ยช่วยให้ภาระหนี้สินต่อเดือนลดลงโดยที่บสย. เข้าไปค้ำประกันให้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเวลาปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

       2. ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไร้แผล ในอดีตหากผู้ประกอบการประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายหนี้ธนาคารธนาคารก็จะดำเนินการฟ้องร้องซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีประวัติไม่ดีไปต่อไม่ได้สิ่งที่บสย. ทำคือช่วยจ่ายหนี้ให้กับผู้ประกอบการและให้ธนาคารช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้มีกำลังใจเดินหน้าธุรกิจต่อไป

       3. ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs มีอนาคต ในอดีตหากผู้ประกอบการถูกระบุว่าเป็นหนี้เสียหรือเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะไม่สามารถเข้าถึงวงเงินใหม่ได้สิ่งที่มาตรการนี้ทำคือการปล่อยวงเงินใหม่กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้รายละไม่เกิน 5,000,000 บาทผ่านสถาบันการเงินพันธมิตรเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อของจ้างงานดำเนินกิจการต่อไปได้

ขณะเดียวกันบสย. และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยังคำนึงถึงผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่โดยบสย.ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มนี้โดยเฉพาะเช่นการร่วมกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินออกสินเชื่อ SMEs อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4% ไม่มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากบสย. เป็นเวลา 4 ปีหรือการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยออกสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3% ไม่มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากบสย. 3 ปีซึ่งในอดีตดอกเบี้ยพิเศษนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้นแต่บสย.ได้ผนึกกำลังกับธนาคารเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ๆให้สามารถมีเงินทุนขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้

เรารู้ว่าในช่วง 3 ปีนี้เป็นเวลาที่ยากลำบากเราจึงช่วยให้บรรดาเถ้าแก่ตัวเบาในช่วงที่ต้องปรับวิธีการในการทำธุรกิจแนวคิดทัศนคติต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยมาตรการของบสย.จะทำให้มีเวลาในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับสถานะการณ์ปัจจุบันเช่นการใช้ช่องทางออนไลน์หรือการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศที่มีกำลังซื้อ

 

เป้าปี 63 ค้ำประกันสินเชื่อแสนล้าน

เดินนโยบาย เสือตื่นยืนข้าง SMEs

ดร.รักษ์กล่าวว่าบทบาทของบสย. ในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการปล่อยการค้ำประกันสินเชื่อโดยในปี 2562 บสย. ปิดยอดที่ 90,628 ล้านบาทเติบโตขึ้นจากเดิม 2% มีจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 28% เป็นผลจากการที่บสย. หันมาเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น SME ขนาดกลางและเล็กมากขึ้นส่งผลให้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 27% โดยยอดค้ำประกันสินเชื่อของปี 2562 มาจากการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PSG8 จำนวน 38,010 ล้านบาทโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PSG7 จำนวน 36,681 ล้านบาทโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Renew จำนวน 7,281 ล้านบาทและโครงการ Micro3 จำนวน 5,609 ล้านบาท

ความสำเร็จนี้เป็นผลต่อเนื่องมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และยอดค้ำกว่า 10,000 ล้านบาทบสย. ยังได้สร้างสถิติออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 20,000 ฉบับทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยนโยบาย ปลุกเสือหลับที่บสย.ทรานฟอร์มตัวเองจากภายในสู่ภายนอกตลอดปี 2562

ดร.รักษ์กล่าวต่อว่าในปี 2563 บสย. จะเดินเกมรุกด้วยนโยบาย เสือตื่นพร้อมตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อในปี 2563 ไว้ที่ 100,000 ล้านบาทหลังจากที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างเข้มข้นเพื่อให้บสย. เป็นองค์กรรัฐที่รักผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริงและพร้อมจะทำทุกทางให้ผู้ประกอบการสามารถเดินบนเส้นทางธุรกิจต่อไปได้ทำหน้าที่เป็นปรึกษาทางการเงินให้บริการกับผู้ประกอบการ SMEs ตื่นตัวพร้อมให้บริการลูกค้าทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นสาขาคอลล์เซ็นเตอร์ตลอดจนช่องทางดิจิทัลต่างๆ

สิ่งที่ผมทำตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบสย.คือการเปลี่ยนแปลงและสร้างให้องค์กรแห่งนี้ไม่ใช่เสือหลับอีกต่อไปทำให้การค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าจากเดิมที่เคยกำหนดว่าเป็นธนาคาร 18 แห่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs 6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะหน้าที่ของเราคือช่วยเถ้าแก่และคนตัวเล็ก

ดร.รักษ์ยกตัวอย่างว่าในอดีตสาขาของบสย. ทั้ง 11 แห่งเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถ Walk-In เข้ามาใช้บริการได้ภายหลังจึงรื้อระบบใหม่เพื่อเปิดรับลูกค้ามากขึ้นทำให้รู้ว่าความทุกข์ของผู้ประกอบการ SMEs คืออะไรสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กกลางใหญ่ก้าวสู่การให้บริการโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

กุญแจสำคัญของการ Transformation ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้แต่เป็นการเปลี่ยนใจและเปลี่ยนความคิดเพราะ Disruption คือการล้มล้างและสร้างใหม่สิ่งที่บสย. ทำคือการล้มล้างระบบความคิดเดิมเพราะของเดิมไม่สามารถตอบโจทย์โลกใหม่ได้จากนั้นจึงสร้างใหม่ด้วยการปรับบทบาทของบสย. จากทางเลือกให้เป็นทางรอดผลักดันให้บสย. เป็น 1 ในองค์ประกอบสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

บสย.เป็นเพียงกระดาษ A4 แนบท้าย 2 ใบเจอลูกค้าเพียงครั้งเดียวคือตอนที่เกิดหนี้เสียและบสย. ต้องจ่ายค่าค้ำประกันเป็นการเจอกันตอนที่ลูกค้าล้มเหลวและมาขอประนอมหนี้ส่วนตัวผมไม่อยากเจอลูกค้า ตอนนี้ผมอยากเจอลูกค้าตอนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองมากกว่าด้วยนโยบายเสือตื่นบสย. จะทำทุกทางเพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้ก้าวต่อไปให้ได้

ดร.รักษ์กล่าวต่อว่าการเปิดเกมบุกในครั้งนี้บสย. จะลงลึกไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กชาวบ้านที่ทำอาชีพอิสระพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กให้สามารถประคองตัวเองในเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาบสย. ได้มีการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลงถึงระดับ Micro เช่นโครงการรักพี่วินมหกรรมคลินิคหมอหนี้โครงการหมอหนี้บสย. โครงการให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการเงินภายใต้แนวคิดเติมทุนเติมความรู้เติมคุณภาพชีวิตที่ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4,000 รายมีผู้เข้ารับคำปรึกษาผ่านคลินิกหมอหนี้บสย. จำนวน 1,119 รายมีความต้องการสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท สามารถสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ 338 รายคิดเป็นวงเงินสินเชื่อจำนวน 2,131 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง PGS(Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 8 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาทความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ลูกค้ารู้จักบสย.มากขึ้นนำไปสู่ผลประกอบการด้านการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2562 ที่เติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ

ในปี 2563 บสย.จะมุ่งมั่นทำงานเต็มกำลังพร้อมเข้าไปเป็นเครื่องมือของทุกธนาคารที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหดตัวของเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการยืดเวลาชำระหนี้การพักหนี้การยืดอายุวงเงินและไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปีกับผู้ประกอบการอีกทั้งหากธนาคารอนุมัติสินเชื่อก้อนใหม่ให้กับผู้ประกอบการบสย. จะไม่คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันนาน 2 ปีด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองให้ไปต่อได้

เรารู้ว่าในช่วง 3 ปีนี้เป็นเวลาที่ยากลำบากเราจึงช่วยให้บรรดาเถ้าแก่ตัวเบาในช่วงที่ต้องปรับวิธีการในการทำธุรกิจแนวคิดทัศนคติต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยมาตรการของบสย. จะทำให้มีเวลาในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับสถานะการณ์ปัจจุบัน เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์หรือการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศที่มีกำลังซื้อ


ติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ Special Interview วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2563 ฉบับที่ 455 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi