INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ผยง ศรีวณิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารกรุงไทย


ด้วยเจตนารมณ์ตลอดระยะเวลา 54 ปีที่ผ่านมาของธนาคารกรุงไทย ที่อยู่เคียงข้างไปกับประเทศไทย คนไทย และสังคมไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวของรัฐ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ก้าวสู่การเป็น Invisible Banking ได้อย่างเต็มขั้น ไปพร้อมกับทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายสำคัญๆ ของภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง และฝ่าวิกฤติต่างๆ ของประเทศ

ปี 2563 ประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่สร้างผลกระทบต่อโลกรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ภาคธนาคารในฐานะเสาหลักของระบบเศรษฐกิจ จึงต้องทำหน้าที่เป็นหลักยึดประคองลูกค้าให้ก้าวผ่านวิกฤติไปได้อย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังมีบทบาทในการสนับสนุนประเทศให้ก้าวสู่ Digital Economy ด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลายช่วยเชื่อมโยงภาครัฐกับประชาชน ตามที่ได้เห็นจากระบบลงทะเบียน ชิม ช้อป ใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ พัฒนาเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com และ คนละครึ่ง.com ตอกย้ำความสำเร็จของยุทธศาสตร์ 2 Banking Model” หรือ  กลยุทธ์แบบเรือบรรทุกเครื่องบินมุ่งปกป้อง ป้องกัน รักษา และพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมของธนาคาร และ กลุยทธ์เรือเร็ว” 
มุ่งเน้นการทำงานแบบเรือเร็ว กระชับ พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เชื่อมโยง 5 Ecosystems หลักของธนาคาร ได้แก่ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียน กลุ่มระบบขนส่ง และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ

ความสำเร็จของธนาคารกรุงไทย ภายใต้การนำทัพของ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่  ได้ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้คณะกรรมการธนาคาร มีมติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กรุงไทยต่ออีกวาระหนึ่ง จนถึงปี 2567  นอกจากนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลนักการเงินแห่งปี ยังได้ลงมติให้ ผยง ศรีวณิช เป็น นักการเงินแห่งปี ประจำปี 2563 Financier of the Year 2020 

 

4 ปี กับการปรับทิศยุทธศาสตร์

มุ่งสู่แก่นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ

ผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ภายใต้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ในวาระแรก ได้ขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค Digital Disruption ได้แล้วพอสมควร สามารถปรับองค์กรให้หันไปถูกทิศถูกทาง เพราะในยุค Disruption ทิศทางที่จะมุ่งไปต้องชัดเจน ยิ่งเกิด Covid-19 ซึ่งธนาคารสามารถยืนหยัดเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจ และเป็นกลไกของรัฐในการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นการยืนยัน และทำให้แน่ใจว่า ทิศทางที่ธนาคารกรุงไทยกำลังมุ่งหน้าไปนั้น  ถูกต้องแล้วเพียงแต่ต้องวิ่งให้เร็วขึ้น

“Covid-19 ทำให้เกิดมิติที่ซ้อนทับเพิ่มเติมเข้ามา ทั้งเรื่องของสุขภาพที่คนเริ่มตระหนักมากขึ้นและการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ที่เข้ามาเปลี่ยนความสามารถในการผลิต (Productivity) ของระบบเศรษฐกิจ การได้รับโอกาสให้เข้ามารับตำแหน่งในวาระที่ 2 ถือเป็นการได้ต่อยอดสิ่งที่ได้ปรับทิศทางองค์กรเอาไว้ สู่โลกวิถีใหม่ในอนาคต

นอกจากเรื่องดิจิทัลแล้ว ผยงยังได้เริ่มปรับความสมดุลของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร ที่ถือว่าทำได้ทันเวลา ทันเหตุการณ์ โดยธนาคารกรุงไทย สามารถลดสัดส่วนกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงแต่สร้างรายได้น้อย เช่น กลุ่มโรงสีข้าว สินค้าเกษตรบางกลุ่ม และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ผลตอบแทนกับความเสี่ยงไม่สมดุลกันให้น้อยลงไปจากอดีต

รวมทั้งได้ปรับกฎเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อให้สะท้อนกฎเกณฑ์ใหม่ๆ สานต่อการสร้าง Loan Factory หรือ กระบวนการสินเชื่อรายย่อยไร้กระดาษ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อถูกฝาถูกตัว ความเสี่ยงที่ได้รับไม่มากจนเกินไป ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยคุมความเสี่ยงได้ดี ทำให้การปล่อยสินเชื่อทุกก้อนของธนาคารจะต้องคำนึงถึงการตั้งสำรองที่สอดคล้องกับการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินใหม่ IFRS9

ด้วยการเร่งสร้างความมั่นคงในเรื่องบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเงินสำรองต่อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารเคยต่ำว่า 100% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 120-130% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และนับว่าเป็นการลดความเสี่ยงทันเวลาก่อน Covid-19 จะมาสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมในภายภาคหน้า

4 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นทิศทางของธนาคารชัดขึ้น และได้ลงมือทำ เริ่มจากสร้างโครงสร้างที่จำเป็นต้องมี สร้างความตระหนักรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนขององค์กรเพื่อที่จะได้เดินไปด้วยกัน ปรับทิศทางยุทธศาสตร์ที่อาจจะไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องกำไร เพราะใส่ใจกับความแข็งแกร่งของธนาคารที่เป็นเรื่องความยั่งยืนและทำได้ทันท่วงที นับเป็นเวลาที่ไม่เสียเปล่า

ผยงกล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาคือ การได้รู้ตัวตนของธนาคารกรุงไทย ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐแห่งแรกและแห่งเดียว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่ ภายใต้นิยามของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งได้สร้างความเข้าใจให้พนักงานและคนในองค์กรรับรู้ว่า ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ธนาคารกรุงไทยยังคงเดินหน้าธุรกิจด้วยการสะท้อนภาพในความเป็นธนาคารพาณิชย์และการมีรัฐถือหุ้นใหญ่ ที่ต้องดำเนินกิจการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ นั่นคือภาครัฐต่อไป

สิ่งที่ธนาคารกรุงไทยมีจุดแข็งอย่างชัดเจนคือ มีฐานลูกค้าในต่างจังหวัดมากกว่าในเมือง อย่างที่ได้พูดมาเสมอคือ ถ้าจะให้ขึ้นชกบนห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ  เราคงถูกน็อก แต่หากให้ชกในตลาดท้องถิ่นอย่างกิมหยงเราสู้ได้สบายและเข้มแข็ง เพราะรากฐานเราอยู่ตรงนั้น ธนาคารกรุงไทยต้องทำหน้าที่บนตัวตนของตัวเองที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ การทำในสิ่งที่เป็นตัวตนจะตอบโจทย์ได้อย่างยั่งยืน

ผยงเล่าว่า ด้วยรากฐานของธนาคารกรุงไทยอยู่ในต่างจังหวัด จึงมุ่งเน้นที่จะดูแลพื้นที่นั้นให้แข็งแรง และนับว่าที่ผ่านมา สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี เช่น การเดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้คนไทย 14.6 ล้านคน ที่ไม่เคยเข้าถึงบริการทางการเงินมาก่อนสามารถเข้าถึงได้ และสามารถเข้าถึงการชำระเงินในร้านค้าโชห่วยที่เป็นฐานรากของคนไทยทุกตำบลรวมกว่า 200,000 ร้านค้าในประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ธนาคารทำคือ การเข้าไปสานต่อโครงการของรัฐ ด้วยการมองภาพว่า รัฐ คือลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร ดังเช่น ธนาคารอื่นที่มีลูกค้ารายใหญ่เป็นของตัวเอง

เป้าหมายในช่วงระยะเวลา 4 ปีจากนี้ไป จะทำให้ภาพของการเชื่อมโยงธนาคารกรุงไทยกับ 5 Ecosystems ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น และเมื่อถึงจุดที่ธนาคารสามารถต่อยอดหยั่งลึกกับระบบนิเวศทั้ง 5 ได้ จะสร้างมูลค่าให้ธนาคารได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน

ผยงบอกว่า จากจุดเริ่มต้นของเปลี่ยนผ่านใน 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่วาระที่ 2 ของตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะเป็นการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่ได้สร้างไปแล้วในวาระแรก โดยจะยกระดับ Krungthai NEXT ซึ่งเป็นระบบปิดที่มีคนใช้งาน 10 ล้านราย พัฒนาให้ใกล้เคียงคู่เทียบมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังสานต่อบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบเปิด คือ เป๋าตังด้วยการตอบสนองโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้สะดวก

ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ธนาคารได้พิสูจน์ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่วางรากฐานเอาไว้ตามยุทธศาสตร์ 5 Ecosystems หลักของธนาคาร นั่นคือ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียน กลุ่มระบบขนส่ง และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ที่นำเอาศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่ธนาคารมีไปใช้ในโครงการต่างๆ ทำให้เห็นภาพของคำว่า Invisible Banking ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่พวกเราชาวกรุงไทยทุกคนภาคภูมิใจคือ สิ่งที่เราพูดและได้ทำ  สะท้อนผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่ทำมา นอกจากกรุงไทยได้ดูแลตัวเองแล้ว กรุงไทยยังได้มีส่วนในการดูแลคนไทยด้วย




สมการ X2G2X

ยึดโยงภาครัฐ

 ผยงกล่าวว่า แม้จะมีรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ แต่ธนาคารกรุงไทยไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ จากรัฐแม้แต่น้อย ทำทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างโปร่งใส ตามวัฒนธรรมองค์กรของธนาคารกรุงไทย ที่จะไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบทั่วทั้งองค์กร (Zero Tolerance)

การรับหน้าที่สนองโครงการต่างๆ ของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกก็เพราะมองว่าโครงการเหล่านั้นเป็นจุดที่สามารถยึดโยงธนาคารกับปัจจัยพื้นฐานของคนไทยตามยุทธศาสตร์ 5 Ecosystems 
หลักของธนาคารได้ ที่แม้เริ่มต้นอาจจะไม่ใช่เพื่อลูกค้าของธนาคาร แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในใจคนไทยได้แล้วสุดท้ายพวกเขาจะมีกรุงไทยอยู่ในใจเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ภาพของ Invisible Banking ชัดเจนมากกว่าเดิมในระยะข้างหน้า ธนาคารกรุงไทยจะเดินหน้าตามยุทธศาสตร์สมการ X2G2X ที่เป็นการเปลี่ยนโลกใหม่ของธนาคารเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างจากอดีต

ในยุคก่อน อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า กลุ่มรายย่อย กลุ่มธุรกิจ หรือธุรกิจรายใหญ่ เป็นการแบ่งสายงานตามกลุ่ม ส่วนภาครัฐมักจะถูกจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเท่านั้น แต่จากนี้ ธนาคารเล็งเห็นว่า ภาครัฐจะเป็น Key Driver ของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ผยงฉายภาพของแนวคิด X2G2X ให้เห็นว่า ภาครัฐไม่ได้ทำนโยบายเพื่อแสวงหากำไร ดังนั้น การที่ธนาคารจะทำหน้าที่เป็นพันธมิตรกับภาครัฐ จึงไม่สามารถมองอย่างเอกชนที่มุ่งหากำไรได้ และเชื่อว่าไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดเข้าใจบริบทของภาครัฐได้ดีเท่ากับธนาคารกรุงไทย ที่เกิดขึ้นโดยรัฐและทำหน้าที่นี้มาตลอด 54 ปี

ภายใต้สมการ X2G2X รัฐจะหมายถึงตัว G ส่วนคนไทยเป็นเหมือนลูกค้ารายย่อยแทนค่าด้วย C ส่วนธุรกิจไทยที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แทนด้วยตัว B เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือธุรกิจล้วนต้องมีส่วนยึดโยงกับภาครัฐไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น ภาครัฐจึงเป็นเสมือนเสาหลักที่ธนาคารจะนำสมการตัวอื่นมาเชื่อมต่อจุด (Connect the dots) ไปเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างที่เห็นได้จากการที่ธนาคารเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่เริ่มต้นด้วยกระทรวงการคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยธนาคารทำระบบลงทะเบียนให้ และต่อเชื่อมกับโรงแรม ร้านอาหารในพื้นที่ ตลอดจนร้านค้าที่ขายของให้โรงแรมที่ใช้บริการชำระเงินผ่านธนาคาร เชื่อมกับคนมาเที่ยวตามโครงการของรัฐที่มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะเห็นว่าทุกๆ การเชื่อมต่อจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งจะมีธนาคารกรุงไทยแฝงอยู่ในนั้น

หากจะเทียบกลยุทธ์ X2G2X กับสิ่งที่คุ้นเคยคือ การดำเนินธุรกิจแบบเชื่อมต่อห่วงโซ่ Supply Chain ที่เป็นของภาครัฐภายใต้บริบทแห่งอนาคตคือ Digital Supply Chain ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของธนาคารจะต้องเชื่อมโยงไปถึงภาครัฐ และรายย่อย เอสเอ็มอี หรือลูกค้าธุรกิจ ที่หากจะเข้าถึงผู้ประกอบการรายหนึ่งจะต้องคิดต่อไปถึงว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะโยงไปถึงภาครัฐที่เป็นแก่นหลักของธนาคารกรุงไทยได้อย่างไรบ้าง หรือหากจะเข้าถึงลูกค้าเอสเอ็มอีรายหนึ่ง ก็ต้องคิดต่อไปว่าเอสเอ็มอีรายนั้นขายของให้ใคร ซื้อของจากไหน ซื้อด้วยวิธีอะไร ชำระเงินจากไหน ทุกกระบวนการที่ธนาคารมีส่วนร่วมจะเชื่อมโยงกันโดยมีภาครัฐเป็นแกนตั้ง

ในยุคแห่งโลกใหม่ ความคิดล้วนเปิดกว้างมากมายไปหมด แต่สำคัญคือ จะนำความคิดที่ฟุ้งกระจายเหล่านั้นมาเชื่อมต่อให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เมื่อคนในองค์กรเข้าใจ X2G2X ได้อย่างถ่องแท้จะมีความสำคัญกับองค์กรมาก เพราะเมื่อธนาคารสามารถเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้า และเชื่อมต่อจุดแต่ละจุดยึดโยงเข้ากับ 5 ecosystems
ได้แล้ว จะเป็นลายแทงตอบโจทย์คำว่า Invisible Banking ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่กรุงไทยกำลังเดินหน้าไป

 

เข้าสู่โลกแห่งแพลตฟอร์ม

ส่งเรือเร็วแสวงหาอนาคต

ผยงเล่าอีกว่า จากสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยดำเนินการไปแล้วคือการวางโครงสร้าง Electronic Banking กระจายในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมีความเชื่อว่าในอนาคตกลุ่มเหล่านี้จะเติบโตและแข็งแรง เป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องเข้าไปแข่งขัน ซึ่งในวิถีใหม่มีคำว่า New Loyalty เกิดขึ้นคือ การที่กรุงไทยเข้าไปทำให้กลุ่มฐานรากแข็งแรง พลิกจากกลุ่มที่เคยด้อยโอกาส เป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการได้ และเชื่อว่าพวกเขาจะเป็น New Loyalty ที่พร้อมใช้กรุงไทยไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนับว่าเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นโดยยกระดับระบบ Electronic Banking เข้าสู่แพลตฟอร์ม ที่อาจจะไม่ได้เอากำไรตั้งต้น แต่เมื่อถึงจุดที่แพลตฟอร์มมีความคึกคักมากพอแล้วก็จะสร้างรายได้กลับมาภายหลัง

ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารยุคใหม่ต่างต้องหาพื้นที่เป็นของตัวเองเพื่อจะต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันจึงได้เห็นบทบาทของธนาคารหลายแห่งที่เปลี่ยนเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน (Banking as a service) กล่าวคือ ธนาคารไม่ได้ให้บริการด้วยตัวเอง แต่เอาบริการของตัวเองเข้าไปเชื่อมต่อกับคนอื่น และแบบที่สองคือ ธนาคารทำตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์ม (Banking as a platform) ที่หมายถึง ธนาคารมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง และเปิดกว้างนำสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเอง

เช่น ในอดีตสาขาธนาคารพาณิชย์ในเชิงกายภาพเสมือนเป็นแพลตฟอร์ม ลูกค้าอยากได้ผลิตภัณฑ์และบริการของกรุงไทยต้องเดินมาที่สาขา แต่วันนี้มี Krungthai Next ทำหน้าที่แทนสาขา ในอนาคตไม่ว่าลูกค้าอยากจะได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรก็หาได้ใน Krungthai Next

ในโลกยุคใหม่ ธนาคารจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่อาจจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยการสร้างผลกำไรจากแพลตฟอร์มนั้น เพราะแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่เกิดโดยสตาร์ตอัพก็ไม่ได้มีกำไรในระยะแรก แต่ต้องสร้างความคึกคักดึงดูดให้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มของตัวเอง แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งถึงจะสามารถสร้างกำไรได้เอง

ผยงบอกอีกว่า จากเดิมธนาคารเคยมองว่าตัวเองยังห่างจากคู่เทียบในเรื่องดิจิทัล แต่ปัจจุบันถือว่าไม่มีระยะห่างในเรื่องนั้นแล้ว เหลือเพียงแต่จะทำอย่างไรที่จะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมเท่านั้น และด้วยความสำคัญของโลกธุรกิจในยุคแพลตฟอร์ม ทำให้การขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์คู่ขนาน 2 Banking Model ที่แบ่งเป็น แบบเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) และ แบบเรือเร็ว (Speed Boat) ต้องยิ่งเดินหน้าให้เร็วกว่าเดิม นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai)

อินฟินิธัส จะเป็นเรือเร็วออกหาโอกาสดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่มีลักษณะการทำงานแบบ Resilient & Agile ที่ยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรมที่เชื่อมโยง 5 Ecosystems 
ของธนาคาร ต่อยอดความสำเร็จจากฐานข้อมูลจำนวนมากที่จะใช้ประมวลผลให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ลดต้นทุนการดำเนินการและสร้างรายได้ให้กับธนาคารได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้สามารถฝ่าฟัน Perfect Storm ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุภารกิจที่ตั้งไว้

ผยง กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนปี 2564 ธนาคารจะเดินหน้าภายใต้กลยุทธ์ Execution Through The Perfect Storm เป็นยุทธการฝ่าพายุวิกฤติ ในเมื่อธนาคารกรุงไทยเดินมาถูกทิศถูกทางแล้วก็ต้องลงมือปฏิบัติให้เร็วขึ้น ชัดขึ้น นับว่าเป็นปีแห่งการลงมือทำ โดยในด้านแรกที่จะลงมือทำคือ การดูแลรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อ และการดูแลลูกค้าของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ลูกค้าและธนาคารสามารถผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปได้

สิ่งที่กรุงไทยมีความโดดเด่นคือ ศักยภาพของคนในการลงมือทำจริง เพราะแค่คิดใครๆ ก็คิดได้ แต่คนกรุงไทยลงมือทำ ล้มลุกคลุกคลานกับการเริ่มต้นระบบมาตลอด และไม่มีใครลงมือทำจริงได้อย่างที่กรุงไทยทำแน่นอน

นอกจากนี้ ภายใต้ปรัชญา กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืนธนาคารได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนกว่า 20 ชุมชนในการสร้างโครงการเพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนที่มีผลผลิตที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น แต่ขาดความรู้ในการสร้างมูลค่า ไม่มีเครือข่าย ไม่มีความรู้เรื่องการขนส่ง หรือไม่รู้ว่าควรจะเข้าไปวางสินค้าขายในตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างไร ธนาคารกรุงไทยก็ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการชุมชนในการสร้างมูลค่า สร้างมาตรฐานการผลิต ช่วยทำตลาดใน Social Market และร่วมมือกับธุรกิจขนส่งในการจำหน่ายสินค้าของชุมชน

และยังมีอีกเรื่องที่จริงจังมากคือ โครงการที่ร่วมกับผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ทำการระดมทุนผ่าน Crowd Funding ให้กับชาวบ้านในเกาะเต่าที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ขาดรายได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว โดยจะใช้การระดมทุนผ่านระบบ e-Donation ของกรุงไทยสำหรับในประเทศ ส่วนในต่างประเทศจะใช้ Crowd Funding ของ UNDP เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่ชาวบ้าน ที่เคยมีรายได้จากการขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยวเกาะเต่าเดือนละ 3,000 บาท โดยให้งานทำคือ การเก็บขยะและดูแลรักษาทะเล เพื่อให้ชาวบ้านดูแลสิ่งแวดล้อมของตัวเองเอาไว้ เพราะเมื่อถึงวันที่การท่องเที่ยวกลับมาจะยังสามารถคงความสมบูรณ์เอาไว้ต่อไปได้

ในอนาคตจะเป็นการสานต่อให้เป็นเศรษฐกิจในสังคมแบ่งปัน (Sharing Economy) เชื่อมต่อกับโครงการภาครัฐอื่นๆ เช่น การใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าโครงการของรัฐบนเกาะจะปันเงินส่วนหนึ่งเข้าในกองทุน ซึ่งโครงการกรุงไทยรักเกาะเต่า ถือเป็นต้นแบบของโลก ที่นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน เพราะเมื่อชาวบ้านรู้จักรักษาทรัพยากรก็เท่ากับรักษาชุมชนและคนในชุมชนของตัวเองด้วย





ติดตามคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2564 ฉบับที่ 465 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi