INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ฉัตรชัย ศิริไล
กรรมการผู้จัดการ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)


Be Simple Make It Simple
เพื่อทำให้คนไทยมีบ้าน

            รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่ง ธอส. ได้รับ 3 รางวัล ประกอบด้วย (1) รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม  (2) รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น  ซึ่งมอบให้แก่ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. ซึ่งถือเป็น 2 รางวัลเกียรติยศที่ ธอส. ได้รับเป็นครั้งแรก และ (3) รางวัลชมเชย ประเภทรางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยสำนักงาน ป.ป.ช. และล่าสุด รางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award (TQA) รางวัลที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการบริหารจัดการขององค์กรทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก โดยสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

 

Be simple Make It Simple

                ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธอส.จะสานต่อพันธกิจ ทำให้คนไทยมีบ้านต่อไปภายใต้ยุทธศาสตร์ Be simple Make It Simple ที่จะทำทุกเรื่องให้ง่ายขึ้น ซึ่งคำว่า ง่ายไม่ได้หมายความว่า อะไรก็ได้ แต่ต้องทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกถึงความง่าย ลูกค้ากู้สินเชื่อบ้านได้ง่าย ผ่อนได้ง่าย มีบ้านเป็นของตัวเองได้ง่าย โดยที่ ธอส.ต้องมีกระบวนการทำงานที่ง่ายด้วยเช่นกัน แต่เป็นความง่ายที่ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

                ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธอส.เริ่มสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีของธนาคารไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่การเปลี่ยนระบบไอทีที่เป็น Core Banking ภายใต้ชื่อว่า GHB System ซึ่งเป็นหนึ่งในการขานรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาให้บริการ และพัฒนาขีดความสามารถสถาบันการเงินไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาสากล      

                โดย ธอส.นำ Digital Technology มาปรับใช้เพื่อยกระดับการทำงานภายในองค์กร สร้างนวัตกรรมการเงิน และช่องทางการให้บริการด้วยระบบ Digital เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลที่เข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ในทุกที่ทุกเวลา โดยมีโครงการ Payment Gateway ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาช่องทางการชำระหนี้เงินกู้ของธนาคาร โดยปัจจุบัน ลูกค้าสามารถชำระหนี้เงินกู้ ได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่

                            - เครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ (LRM) ตอบโจทย์ ชำระกี่บัญชีก็นาทีเดียว

                            - เครื่องชำระหนี้เงินกู้ไร้เงินสด (QR Non Cash Payment) ชำระหนี้เงินกู้ โดยใช้ Mobile Application ของธนาคารต่างๆ ผ่าน Dynamic QR Code

                            - Mobile Application GHB ALL ออกแบบมาเพื่อง่ายต่อการใช้งานได้อย่างครบวงจรแบบ Anywhere Anytime

 

                นอกจากนี้ ธอส.ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  โดยนำเทคโนโลยี e-KYC ให้ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตน ผ่าน Mobile Application ที่เชื่อมต่อกับระบบ NDID โดยนำมาปรับใช้ในการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก และการยื่นขอสินเชื่อผ่านระบบ Digital ในอนาคต

                การนำ Digital Technology มาปรับใช้เพื่อยกระดับการทำงานภายในองค์กร สร้างนวัตกรรมการเงิน และการให้บริการด้วยระบบ Digital เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก ธอส.ไม่ต้องมีทุกอย่างเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่มีทุกอย่างที่ลูกค้าของเราต้องการ

 

                ฉัตรชัยกล่าวว่า ธอส.ได้ปรับกระบวนการในการทำงานง่ายขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ง่าย ตั้งแต่เรื่องเอกสาร  ที่จะใช้เอกสารกระดาษน้อยที่สุด เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ในรูปแบบดิจิทัลหมดแล้ว รวมทั้งการยืนยันตัวตนก็มีเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริม ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยมีมาตรฐานในการพิจารณาสินเชื่อ ที่ขั้นตอนปกติจะอยู่ที่ 3 วัน แต่ด้วย ธอส.มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและซับซ้อนบางรายอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า หรือบางรายก็อนุมัติได้ภายในวันเดียว

                อย่างไรก็ดี การปรับกระบวนการทำงานใหม่จะมุ่งเน้นทำให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่กู้ซื้อบ้านได้แล้วผ่อนต่อไม่ไหว เพราะแบบนั้นไม่ได้หมายความว่า ทำให้คนไทยมีบ้าน แต่กลายเป็นทำให้คนไทยเป็นหนี้

                 ธอส.ได้ขยายความให้พนักงานของธนาคารเข้าใจความหมายของ Be Simple Make It Simple ว่าจะต้องช่วยให้คนมีบ้านเป็นของตัวเองไม่ใช่แค่ให้กู้ได้เท่านั้น แต่รวมถึงผ่อนได้ตลอดรอดฝั่ง ไปจนไถ่ถอนจำนองออกจากแบงก์ หรือลูกค้าที่กู้ไปแล้วเกิดประสบอุบัติเหตุในชีวิต เช่น รายได้ลดลง หรือตกงาน ทำให้ผ่อนต่อไม่ได้ และกลายเป็น NPL เราต้องเสนอมาตรการประนอมหนี้แก่ลูกค้า เพื่อให้เขากลับมาผ่อนได้ตามปกติ และได้มีบ้านเป็นของตัวเองในที่สุด

                                                        

ติดตามคอลัมน์ Special Interview  ฉบับเต็ม ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ฉบับที่ 454 บนแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือในรูปแบบดิจิทัล https://goo.gl/U6OnIi