INTERVIEW • SPECIAL INTERVIEW

Special Interview : วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน

วิทัย รัตนากร

ผู้อำนวยการ

ธนาคารออมสิน

มุ่งสู่ Social Bank

Making POSITIVE Impact on Society


ธนาคารออมสินอยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมากว่า 107 ปี โดยมุ่งดำเนินการตามพันธกิจในการส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการเป็นธนาคารเพื่อสังคมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง

จนวันนี้วิทัย รัตนากรผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 ประกาศนำทัพธนาคารออมสินสู่การเป็น Social Bank หรือ ธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างผลเชิงบวกแก่สังคม “Making POSITIVE Impact on Society” มุ่งเน้นดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย และชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับรายได้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

ออมสินเติบโตมากับลูกค้ากลุ่มลูกค้าฐานราก ซึ่งแม้ว่าในอดีตอาจมีบางช่วงที่มีความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนลูกค้ากลุ่มอื่นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัย แต่ตอนนี้ภารกิจนั้นสำเร็จไปแล้วถึงเวลาที่ต้องกลับมาเป็นโซเชียลแบงก์ดูแลลูกค้ากลุ่มฐานรากเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอันเป็นตัวตนที่แท้จริงของธนาคารออมสิน

 

เปลี่ยนโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

วิทัยกล่าวว่าในการปรับเปลี่ยนให้ธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคมหรือ Social Bank ออมสินจะมุ่งเน้นดูแลลูกค้ารายย่อยและผู้มีรายได้น้อยซึ่งธนาคารมีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลลูกค้ากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ถึง 12.8 ล้านราย หรือ 61.6% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

โดยภารกิจแรกคือการนำธนาคารออมสินเข้าสู่ธุรกิจ Non-Bank อย่างเต็มตัว เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ผู้มีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลเชิงบวกให้กับสังคมอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ

นอกจากนี้จะเป็นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้ากลุ่มฐานรากใช้บริการ Non-Bank ได้แก่ สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งคิดอัตราในระดับสูงถึง 24-28% ต่อปี โดยมีเป้าหมายจะลดภาระดอกเบี้ยของผู้กู้ลงให้ได้ 8-10% ซึ่งภารกิจนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารแล้วและจะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนี้

ในวันนี้สิ่งที่เห็นชัดคือนอกจากคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินในระบบจะมีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบแล้ว คนที่มีรายได้น้อยก็มีปัญหาหนี้ในระบบที่มีดอกเบี้ยสูงด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่กลับด้านกับสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือคนที่มีรายได้สูงจ่ายดอกเบี้ยน้อย คนที่มีรายได้ต่ำจ่ายดอกเบี้ยสูง สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้โครงสร้างความเป็นธรรมในสังคมสูญเสียไป

วิทัยกล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหรือทำให้โครงสร้างดอกเบี้ยในระบบลดลงได้นั้น ออมสินต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดเองซึ่งไม่ได้เข้าไปแข่งขันด้วยการขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่เป็นการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรม โดยการปล่อยสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนฐานรากให้มากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงรวมถึงมีความเร็วและการควบคุมความเสี่ยงที่ทัดเทียมกับธุรกิจNon-Bank

ผมหวังว่าภารกิจในการเข้าไปลดดอกเบี้ยเชิงโครงสร้างจะได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการธนาคาร พนักงานเนื่องจากสิ่งที่ทำเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลโดยตรงในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและลดความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้อาจจะต้องมีการรับแรงปะทะบ้างแต่เราตั้งใจทำและหวังว่าความตั้งใจนี้จะช่วยคนได้


วิทัยกล่าวว่า นอกจากจะเข้าไปปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้ลดลงแล้ว ในด้านการดูแลผู้ประกอบการรายย่อย ธนาคารจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ที่มุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในการสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Street Foodกลุ่ม Homestay เป็นต้น

โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม การคัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์การตลาด และสร้างช่องทางการขายการหาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อ และการร่วมทุน โดยธนาคารออมสินจะเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน


วิทัยกล่าวว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อีกภารกิจที่สำคัญคือการแก้ไขหนี้ โดยลูกค้าของออมสินเป็นลูกค้าบุคคลและฐานรากเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าหลังจากจบมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคมนี้แล้วจะยังมีลูกค้าที่ยังได้รับผลกระทบและยังไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้

ดังนั้นธนาคารออมสินได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 โดยจะให้ลูกค้าเป็นผู้เลือกรูปแบบการพักชำระหนี้โดยเลือกได้ทั้งการพักเฉพาะเงินต้น จ่ายเพียงดอกเบี้ย หรือการพักเงินต้นแต่ชำระเงินต้นเพียงครึ่งหนึ่ง และจะให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น MyMo หรือสาขา

การขยายเวลาพักชำระหนี้ในรอบนี้จะให้ลูกค้ายื่นความจำนงในเดือนกันยายนนี้ และจะดำเนินมาตรการในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เนื่องจากหากไม่แก้ไขเรื่องหนี้ในช่วงนี้เมื่อถึงเดือนมกราคมปีหน้า อาจมีการเป็นหนี้เสียได้ ถือว่าช่วงนี้เป็นการทำภารกิจให้ประเทศ

ขณะที่อีกภารกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้ของธนาคารออมสินคือการแก้หนี้ข้าราชการซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อเพื่อบุคลากรภาครัฐกว่า 577,900 ล้านบาท เป็นจำนวน 1.11 ล้านราย โดยออมสินมีแนวทางในการแก้ไขหนี้โดยการใช้แหล่งเงินอื่นในการชำระหนี้ และ มาตรการแก้ไขหนี้โดยสนับสนุนจากรัฐบาลและต้นสังกัด


วิทัยกล่าวว่าสิ่งที่จะทำให้ออมสินสามารถดำเนินภารกิจในการดูแลผู้มีรายได้น้อยและประชาชนฐานรากได้คือการพัฒนานวัตกรรม บริการดิจิทัลโดยต้องมีการลงทุนทางเทคโนโลยีเพิ่มเติมซึ่ง Digital Banking และการใช้ Data Analytic จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ Social Bank ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะถูกปรับบทบาทให้เข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสาขา และจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ดังนั้นธนาคารจึงเตรียมพัฒนาบริการลักษณะเฉพาะ หรือ Feature ใหม่ บนแอปพลิเคชั่น MyMoเพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปสาขาแต่สามารถใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้ เช่น บริการปรับโครงสร้างหนี้ การให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending ตลอดจนบริการเปิดบัญชีเงินฝาก(e-KYC) อีกด้วย ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้


เน้น Quality มากกว่าQuantity

มุ่งสร้าง Positive Impact ในสังคม

วิทัยกล่าวว่า แม้ว่าออมสินจะมุ่งเน้นดูแลลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อการเป็นธนาคารเพื่อสังคม แต่ยังคงให้ความสำคัญกับภารกิจเชิงพาณิชย์โดยจะเป็นกิจการรองเพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาสนับสนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Banking)

ยุคของผมจะดูที่คุณภาพเป็นหลัก เราไม่ต้องการมีขนาดที่ใหญ่แต่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นออมสินจะให้ความสำคัญกับ Quality มากกว่า Quantity ขนาดไม่จำเป็นต้องใหญ่เป็นที่ 1แต่อยากให้คุณภาพข้างในแข็งแรงมากกว่า เพราะถ้าไม่มีคุณภาพก็จะไม่ยั่งยืน จะยั่งยืนได้ต้องแข็งแรงและมีขนาดที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามการดำเนินภารกิจทั้งหมดจะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้หากบุคลากรในองค์กรไม่มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน วิทัยกล่าวว่า การสื่อสารภายในจะเป็นเรื่องสำคัญมากแต่การสร้างความเข้าใจของคนในองค์กรไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากตนเองเคยทำงานกับออมสิน รู้จักคนที่ออมสินอยู่แล้ว และสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนในวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของออมสินที่มีพันธกิจในการดูแลสังคมไปจากเดิมแต่จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น

โดยการที่จะทำให้ภารกิจในการดูแลสังคมชัดเจนมากขึ้นได้ภายในองค์กรต้องมีการปรับในหลายด้าน เช่น ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ปรับลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ขณะที่สิ่งที่ออมสินทำมาดีอยู่แล้วต้องมีการต่อยอดให้ดีขึ้น โครงการต่างๆ ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและมีผลต่อสังคมอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งที่ต้องการทำต่อจากนี้คือการสร้าง Positive Impact ให้เกิดในสังคม Impact ต้องเกิดขึ้นจริง ต้องเห็นจำนวนคนที่เราช่วยให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จำนวนสินเชื่อในกลุ่มนี้ต้องมีมากขึ้น โครงสร้างในตลาดดอกเบี้ยต้องถูกลง ถึงแม้จะไม่ง่ายแต่ถ้าสามารถทำได้จะเป็นความสำเร็จในช่วงชีวิตของผม


ติดตามคอลัมน์ Special Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ฉบับที่ 460 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi