INTERVIEW • PEOPLE

People : ปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต

ปาณัท สุทธินนท์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
 
เส้นทางความสำเร็จ
นักออกแบบระบบการเงิน-การลงทุน


ความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเสนอกรมธรรม์ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกความคุ้มครองและการลงทุนได้ด้วยตนเอง อย่างยูนิตลิงค์ หรือ Index Linked หรือประกันสุขภาพอีลิทเฮลท์ ที่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลสูงสุดถึง 100 ล้านบาท จากการทุ่มเทของทีมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่นำทีมโดย ปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

 

เริ่มจากการชักชวน

ตัดสินใจเลือกอาชีพ

ปาณัทจบการศึกษาหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัย (นานาชาติ) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 พร้อมคว้าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับเฟลโล่ได้สำเร็จตั้งแต่อายุ 23 ปี ซึ่งถือว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อายุน้อยที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้นหากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปาณัท ตัดสินใจก้าวเข้าสู่อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นการเลือกเพราะความชื่นชอบคณิตศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง

ปาณัทเล่าว่า ชื่นชอบเรื่องของคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งช่วงมัธยมปลายได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าร่วมแข่งขันตอบคำถามคณิตศาสตร์ ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนผลงานไปเข้าตาผู้บริหารของเมืองไทยประกันชีวิตทีไปร่วมงานในฐานะผู้สนับสนุนหลัก จึงได้รับการชักชวนให้ไปเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยซึ่งในขณะนั้น อาชีพนักคณิตศาสตร์ในประเทศไทยถือว่าเป็นอาชีพที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และตนเองก็ไม่รู้เลยว่าอาชีพนักคณิตศาสตร์ทำอะไรได้บ้าง

จังหวะเดียวกับต้องเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จึงตัดสินใจค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนักคณิตศาสตร์จากต่างประเทศจนได้รู้จักกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่า คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบการเงิน โดยนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์การเงินและสถิติความน่าจะเป็นมาใช้ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์อดีต จำลองอนาคต เพื่อคำนวณคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและสื่อสารออกไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ

ซึ่งครอบคลุมเรื่องการสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ต้องคาดการณ์โดยใช้สถิติว่าจะต้องจ่ายเงินคืนในอนาคตเท่าไรและเมื่อไรด้วยและต้องได้รับการสอบคุณวุฒิให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถมองภาพระยะยาวให้ไกลมากที่สุด เพื่อตั้งสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยให้กับธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

ปาณัทกล่าวว่า เมื่อรู้จักกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว แม้ในช่วงแรกจะรู้สึกกลัวและกังวลอยู่บ้าง แต่หลังจากสำรวจจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองแล้ว ก็พบว่าจุดแข็งของตนเองคือ ความชอบตัวเลข ชอบคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูล แต่ไม่ชอบท่องจำเลยตัดสินใจไม่เรียนหมอแม้จะมาจากครอบครัวที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นหมอก็ตาม

ที่สำคัญจากการค้นข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอยู่ใน Top10 ของอาชีพที่มีผู้สนใจจะเรียนมาโดยตลอด และได้มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของเมืองไทยประกันชีวิตอีกครั้ง จนในที่สุดก็ตัดสินใจทันทีว่าจะเข้าเรียนหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลและสอบเฟลโล่ควบคู่กันไปด้วยจนจบปริญญาตรีพร้อมกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

จากนั้นก็ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตทันที ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ของฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยรับผิดชอบในส่วนของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยภายในระยะเวลา 6 ปีของการทำงานถือว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จากการเป็นเจ้าหน้าที่ในฝ่ายคณิตศาสตร์ สามารถแสดงฝีมือจนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ในปัจจุบัน

 

ทุ่มเทสร้างโปรดักต์

สู้ศึกภาวะดอกเบี้ยต่ำ

ปาณัทกล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปัจจุบันนี้ หลายคนคงกำลังมองหาแหล่งลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีๆ ที่สู้กับอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งประกันชีวิตรูปแบบเดิมๆ ที่

การันตีผลตอบแทนในปัจจุบันนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์กับความต้องการ

ดังนั้นภายใต้แนวคิด Customer Centric ของบริษัท หน้าที่ของนักคณิตสาสตร์ประกันภัย จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อสวนกระแสดอกเบี้ยขาลง จนออกมาเป็นแบบประกันประเภทIndex Linked ซึ่งไม่ได้ล็อกอัตราผลตอบแทนเหมือนแบบประกันรูปแบบเดิม แต่เปิดโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำได้โดยเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่พัฒนาสินค้าในลักษณะนี้ขึ้นมา

สำหรับแบบประกันประเภท Index Linked เป็นแบบประกันที่จะมีการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในดัชนีตามที่บริษัทได้คัดเลือกไว้ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของดัชนีนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ด้วย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มลงทุน แต่รับความเสี่ยงได้ต่ำ รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามสภาวะตลาดมากนัก และต้องการมืออาชีพในการบริหารเงินลงทุน

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทProtection เช่น ประกันสุขภาพ หรือ ประกันโรคร้ายแรง เป็นต้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายความคุ้มครองของ Elite Health เป็น 99 ปี หรือการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถ ออกแบบความคุ้มครอง และผลประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับความต้องการ และ Lifestyle ของตัวเองให้มากที่สุด

ความสำเร็จจากการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายระยะสั้น 3-5 ปีที่ตั้งไว้ว่าอยากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ที่ทุ่มเททำงานตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย มาจนถึง การเป็น Head of Actuarial Pricingและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว

ปาณัทกล่าวว่า เมื่อประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว เป้าหมายระยะสั้นที่ตั้งไว้ต่อไป คือการทำงานเพื่อส่วนรวม โดยมี 2 เรื่องที่อยากจะทำให้สำเร็จคือ

        เรื่องที่ 1 อยากปรับทัศนคติของคนที่ มีต่อธุรกิจประกันชีวิต ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าทัศนคติต่อวงการประกันของประชาชนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เราไปงานแล้วเจอกับคนจากแวดวงอื่นๆ ที่พอรู้ว่าเราทำงานบริษัทประกันก็ไม่อยากจะพูดคุยด้วยแล้วเพราะกลัวว่าเราจะไปขายประกันสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจว่าเราจะต้องหาวิธีที่จะเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องของประกันให้กลายเป็นด้านบวกสำหรับคนทั่วไปให้ได้

        เรื่องที่ 2 การเติมเต็มช่องว่างทางการคุ้มครอง (Protection Gap) เช่น นายเอเป็นหัวหน้าครอบครัวถ้านายเอเสียชีวิต และครอบครัวต้องการเงินไปเลี้ยงดูครอบครัว 5 ล้านบาท แต่ตอนนี้นายเอมีทรัพย์สินแค่ล้านเดียว ช่องว่างตรงนี้คือ 4 ล้านบาท ที่ขาดไป ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสิ้นปี 2563 ประเทศไทยจะมี Protection Gab 38 ล้านล้านบาท ด้วยตัวเลขนี้สามารถซื้อไอโฟนให้คนในประเทศไทยคนละ 11 เครื่องขณะที่หากนำเอาประกันชีวิตเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อมาเติมเต็มช่องว่าทางการคุ้มครองให้กับคนในครอบครัว หรือตนเองได้ จะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สำหรับประชาชนอย่างมาก

ในฐานะที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และทำหน้าที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็พยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาโปรดักต์ที่คุ้มค่า โดยร่วมกับกับภาครัฐ ที่จะความตระหนักให้กับประชาชนว่าประกันชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่เรื่องของการจ่ายเงินแล้วทิ้งแต่คือการบริหารความเสี่ยงในชีวิต

 

สร้างสมดุลการทำงาน

บริหารคนอย่างมืออาชีพ

ปาณัทกล่าวว่า ในฐานะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ความยากของการทำงานคือการสร้างสมดุลระหว่าง ลูกค้า ตัวแทน บริษัท โดยการพัฒนาแบบประกันที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้ง 3 กลุ่มอย่างคุ้มค่า ทั้งในส่วนของลูกค้าที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการ ตัวแทนสามารถนำเสนอการขายได้อย่างถูกต้อง ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และบริษัทต้องสามารถสร้างกำไรจากการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกัน การที่ผมเติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วจึงทำให้มีทีมงานที่เป็นทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเดียวกันซึ่งในการบริหารทีมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยก้าวข้ามเรื่องของรุ่นที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมเดียวกันได้นั้น ประกอบไปด้วยหลัก 3 ประการคือ

        ประการที่ 1 การปรับทัศนคติ (Mind Set) ของทีมงาน เพราะความเก่งสอนกันได้ แต่งานจะประสบความสำเร็จได้ทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่ธุรกิจประกันอยู่ในช่วงที่ท้าทายมากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องพัฒนาโปรดักส์ให้รวดเร็วตามไปด้วย ขณะเดียวกันฝ่ายการตลาดก็ต้องมีการคิดแผนการตลาดที่ทันต่อเหตุการณ์ด้วย

ในการทำงานเราไม่อยากให้มองว่า ทำไมทีมของเราทำงานเยอะ และมองว่าทีมงานรับผิดชอบงานน้อยกว่า แต่อยากจะให้มองว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของตนเอง ออกมา และเป็นโอกาสที่พิสูจน์ ตัวเอง

         ประการที่ 2 การให้โอกาสทีมงานได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิด การทำงานด้วยตนเองมากขึ้นโดยที่หัวหน้างานไม่จำเป็นต้องลงไปช่วงทุกคน เพื่อให้ภายในทีมสามารถตัดสินใจ คิด วิเคราะห์ นำเสนอผลงานได้ด้วยตนเอง ภายใต้ข้อแนะนำจากหัวหน้า เพื่อให้แต่ละเจ้าของผลงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของงานและพยายามพัฒนางานให้ดีขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้สามารถนำเสนอผลงานของแต่ละคนต่อผู้บริหารระดับสูงได้โดยตรง

ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดทีม เพื่อให้แต่ละคนสามารถดูแลงานของตนเองได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่กับทีมอื่นได้ โดยทุกคนภายในทีมต้องพร้อมที่จะเป็นผู้นำ และผู้ตามตลอดเวลาเพื่อจะได้เข้าใจว่าหัวหน้าคิดยังไง และลูกน้องคิดยังไง

        ประการที่ 3 การรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากทีมงาน ไม่ใช่ว่าเราเป็นหัวหน้าทีมแล้วทุกคนในทีมต้องฟังข้อเสนอแนะของเราแต่ฝ่ายเดียวโดยมีการตั้งโจทย์ให้กับคนในทีมด้วยว่าสามารถเสนอแนะการทำงานได้หากรู้สึกว่าผมทำงานไม่ดี ไม่ถูกต้อง หรืออยากให้ปรับปรุงในเรื่องใดเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ ในลักษณะของ Two Way Feedback

สิ่งที่ผมต้องบอกตัวเองคือ ผมต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อย่างน้อยผมต้องเก่งกว่าเมื่อวาน สิ่งที่เราทำ คือเรียนรู้สิ่งใหม่ นวัตกรรมใหม่ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


ติดตามคอลัมน์  People ได้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2563 ฉบับที่ 456 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi