INTERVIEW • PEOPLE

People : สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย

สรพล วีระเมธีกุล

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์

บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย

 

บนเส้นทางนักกลยุทธ์การลงทุน

รู้เรื่อง หุ้น” อย่างเดียวไม่พอ

 


 

บทบาทของนักกลยุทธ์จะประเมินสถานการณ์การลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเสนอมุมมองการลงทุนที่เป็นภาพกว้างมากกว่านักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจหาจังหวะการลงทุน และทำกำไรในแต่ละช่วงเวลาได้” 

 

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในตัวของหลักทรัพย์ หรือหุ้นให้กับนักลงทุนผ่านการเขียนบทวิเคราะห์ ซึ่งครอบคลุมถึงลักษณะของธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต การวิเคราะห์งบการเงิน และมูลค่าความเหมาะสมของหุ้น เพื่อสรุปเป็นคำแนะนำในการลงทุนให้กับนักลงทุนที่จะนำไปเป็นปัจจัยเพื่อตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ ได้ 


ลักษณะงาน หรือหน้าที่หลักของนักวิเคราะห์ คือ การติดตาม รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ในกลุ่มที่ได้รับมอบหมายเพื่อนำเสนอคำแนะนำในการลงทุนให้กับนักลงทุน


การก้าวสู่อาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ไม่ง่าย ต้องมีการสอบใบอนุญาตเพื่อที่จะสามารถเขียนบทวิเคราะห์และให้คำแนะนำกับนักลงทุนได้ เช่น CISA หรือ CFA อีกทั้งการจะเป็นนักวิเคราะห์ที่สามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 2 ปี


ทำความรู้จักนักกลยุทธ์การลงทุน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย นักวิเคราะห์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานกว่า 9 ปี ในการก้าวสู่การเป็นนักกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน 


ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักทรัพย์มีนักวิเคราะห์ประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้มีนักกลยุทธ์การลงทุนไม่ถึง 30 คน แต่ละโบรกเกอร์จะมีนักกลยุทธ์ประมาณ 1-2 คน เท่านั้น สำหรับฝ่ายวิเคราะห์ของ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย มีบุคลากรกว่า 30 คน มีนักกลยุทธ์ 2 คน 



 จากนักวิเคราะห์กลุ่มขนส่ง สู่นักกลยุทธ์ลงทุน 


สรพล ร่วมงานกับ บล.กสิกรไทย เมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันอายุ 30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรภาษาอังกฤษ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เส้นทางนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เริ่มที่กลุ่มอุตสาหกรรมขนส่ง จากนั้นขยายขอบข่ายการวิเคราะห์ไปยังอีกหลายกลุ่ม ทั้งหมวดอาหาร พลังงาน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าการค่อยๆ เดินสร้างฐานตัวเองให้มั่นคงดีกว่าการวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อได้เรียนรู้งานหลากหลายมากขึ้นจะทำให้มีฐานความรู้ที่แน่น ประกอบกับมีความรู้ในสิ่งที่เรียนมา จึงส่งผลให้ได้เป็นนักวิเคราะห์ด้านกลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบัน” 


สรพล อธิบายลักษณะการทำงานของนักกลยุทธ์ลงทุนว่า ค่อนข้างแตกต่างไปจากเดิม ทำให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น และด้วยความที่ตัวเองนั้นเรียนมาทางด้านเศรษฐกิจภาพใหญ่ทำให้ไม่ค่อยชอบการวิเคราะห์หุ้นรายอุตสาหกรรมมากนัก จึงได้ผันตัวจากนักวิเคราะห์มาเป็นนักกลยุทธ์การลงทุน 


นักกลยุทธ์จะประเมินสถานการณ์การลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเสนอมุมมองการลงทุนในลักษณะที่เป็นภาพกว้างได้มากกว่านักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจหาจังหวะการลงทุน และทำกำไรในแต่ละช่วงเวลาได้


นอกจากนี้ การเป็นนักกลยุทธ์จำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เพื่อศึกษาตลาดต่างๆ จึงมีเวลาให้ตัวเองค่อนข้างน้อย 

ผมนอนวันละ 4-5 ชั่วโมง ตื่นนอนตีห้า (05.00 น.) เพื่อมอนิเตอร์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และติดตามสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเช้าเพื่อนำเสนอลูกค้า ส่วนช่วงบ่ายก็ติดตามตลาดฝั่งยุโรป ช่วงเย็นติดตามหุ้นไทยปิดตลาด และยิ่งปัจจุบันด้วยแล้วมีบิตคอยน์เข้ามาก็ต้องคอยติดตามด้วย อาชีพนี้จึงเป็นอาชีพที่ต้องลงทุนลงแรงค่อนข้างมาก"



 รู้เรื่อง หุ้น” อย่างเดียวไม่พอ 


สรพล มีมุมมองว่า การจะเป็นนักกลยุทธ์การลงทุนที่ดีนั้น การมีความรู้เรื่องหุ้นเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ โดยนักกลยุทธ์สมัยใหม่ ความรู้เรื่องหุ้นควรเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ในต่างประเทศนักกลยุทธ์ไม่ได้รู้เรื่องหุ้นมากนัก ส่วนผู้ที่มีความรู้เรื่องหุ้นมากๆ น่าจะเป็นนักวิเคราะห์ ขณะที่นักกลยุทธ์ส่วนใหญ่จะสนใจสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย เช่น พันธบัตร ค่าเงิน ทองคำ และน้ำมัน เป็นต้น 


นักกลยุทธ์การลงทุนสมัยใหม่จะเป็นไปในเชิงนักเศรษฐศาสตร์รวมกับนักวิเคราะห์มากกว่า เพราะการวางกลยุทธ์ให้นักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด-19 ในรอบที่ผ่านมา หากนักลงทุนขายหุ้นหมดพอร์ต เงินหายไปไหน แต่หากมีความรู้เรื่องสินทรัพย์อื่นๆ เมื่อขายหุ้นออกมาแล้วก็สามารถนำไปลงทุนด้านอื่นๆ ได้


ประเด็นที่ สรพล ยกตัวอย่างข้างต้น เขาบอกว่านักกลยุทธ์การลงทุนจะมองภาพตลาดได้แตกฉานกว่า และการเป็นนักกลยุทธ์ไม่ง่าย ต้องสั่งสมทั้งประสบการณ์ ความรู้ และต้องคิดอยู่ตลอดเวลา เป็นอาชีพที่ต้องลงทุนลงแรง และใช้เวลาค่อนข้างมาก




 

นักกลยุทธ์ต้องไม่ชี้นำลูกค้า แต่เป็น ใบเบิกทาง” 


ในมุมมองของ สรพล นักกลยุทธ์การลงทุนไม่ควรชี้นำความคิดนักลงทุน แต่ควรเป็นใบเบิกทางคอยสนับสนุนข้อมูล ทำหน้าที่เสนอความคิด ไม่ใช่เป็นคนเลือกให้นักลงทุน โดยควรนำประสบการณ์ของตัวเองมอบให้แก่นักลงทุน นอกจากนี้ ต้องไม่เปลี่ยนความคิด แต่สนับสนุนความคิดลูกค้า ในฝั่งของนักลงทุนก็เช่น ที่ไม่ควรคล้อยตามความคิดเห็นของนักกลยุทธ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรนำความเห็นที่ได้รับมาไตร่ตรองก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพราะการประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักกลยุทธ์เพียงอย่างเดียว


สิ่งที่นักวิเคราะห์ไม่ควรมี คือ อคติ” ผิดแล้วต้องไม่ดื้อรั้น และไม่ยอมรับความผิดของตนเอง เพราะจะส่งผลให้ลูกค้าขาดทุนไปด้วย ผลที่ตามมาคือ สร้างความเสียหาย นอกจากนี้ กระบวนการทางความคิดควรเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา


สรพล แนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ว่า อยากให้กล้าลงทุนควบคู่ไปกับการศึกษาหาความรู้ และต้องยอมให้มีบาดแผลก่อน หรือรับการขาดทุนได้บ้าง เพราะบาดแผลจะเป็นบทเรียนให้ตัวเอง เป็นการสั่งสมประสบการณ์เพื่อจะได้มีข้อมูลในการลงทุนและเปิดประตูสู่โลกการลงทุนเพื่อพบกับสิ่งใหม่ๆ ถือว่าเป็นกำไรให้ชีวิตตัวเองด้วย


 มุมมองต่ออุตสาหกรรมหลักทรัพย์


สรพล ได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในปัจจุบันว่าไม่ต่างกับธุรกิจการบิน นั่นก็หมายความว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมไม่แรงมาก นักลงทุนที่เปิดพอร์ตลงทุน หรือที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มเดิม โบรกเกอร์มีการแข่งขันทางด้านราคา 


ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์แต่ละรายต้องหาจุดยืนของตัวเอง เช่น ฐานลูกค้าเป็นกลุ่มไหน รายใหญ่ รายย่อย นักทุนสถาบันในประเทศ หรือต่างประเทศ จากนั้นจึงนำเสนอบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า 


นักลงทุนในปัจจุบันไม่ได้สนใจค่าคอมมิสชั่นเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่สนใจเรื่องของการแนะนำหุ้น และโบรกเกอร์มีหุ้นไอพีโอที่มีคุณภาพให้ลูกค้า ดังนั้น หากบริษัทหลักทรัพย์ไหนทำได้ก็ไม่แปลกที่จะอยู่ต่อไปได้


เมื่อบริษัทอยู่ได้ก็สามารถจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และจะตามมาด้วยลูกค้า วนเป็นวัฏจักร ผมมองว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่จะอยู่ได้ในระยะยาวไม่ใช่เรื่องค่าคอมมิสชั่นเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องการบริการและผลิตภัณฑ์การลงทุนด้วย


สำหรับ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย จะไม่แข่งขันด้านราคา แต่จะทดแทนลูกค้าด้วยการให้บริการที่ดี ทั้งลูกค้าสถาบันและรายย่อย มีบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมหุ้นจำนวนมากถึง 170 บริษัท ถือว่ามากที่สุดในอุตสาหกรรม และหากมีประเด็น หรือเหตุการณ์สำคัญ ก็จะมีการจัดสัมมนาให้ลูกค้า


นอกจากนี้ มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ครอบคลุมทั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ และกองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตลอดจนมีหุ้นไอพีโอนำเสนอลูกค้า ที่มั่นใจว่าเป็นบริษัทที่มีคุณภาพดี 


 

นักวิเคราะห์ กับตลาดทุนยุคดิจิทัล


ทุกวันนี้การทำธุรกรรมของตลาดทุนไทยได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ชีวิตของผู้ลงทุนมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่โบรกเกอร์ได้มีการปรับตัวและมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการให้บริการแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือที่ผู้ประกอบธุรกิจได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้อง เดินทางมาที่สำนักงานสาขา จึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงเติบโตได้


จากประเด็นข้างต้น สรพลเสริมว่า ในปัจจุบันการรับรู้ข้อมูลของนักลงทุนต่างไปจากเดิมมาก ไม่มีการมานั่งอ่านข้อมูลเป็นกระดาษหลายหน้า แต่มีข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น อินโฟกราฟฟิก ยูทูป ซึ่งนักวิเคราะห์มีการปรับตัวตามนักลงทุนอยู่เสมอ


สรพลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมี 8 บริษัทหลักทรัพย์ จาก 30 บริษัท ที่ให้บริการวิเคราะห์หลักทรัพย์ผ่านระบบออนไลน์ โดยแต่ละบริษัทมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป บางบริษัทโดดเด่นเรื่องหุ้น ปัจจัยเทคนิค เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเทคโนโลยี แต่สุดท้ายแล้วนักลงทุนจะได้ประโยชน์สูงสุด และคาดว่าในอนาคตอาจจะมีอีกหลายบริษัทที่หันมาทำเรื่องนี้ ซึ่งมีประโยชน์มากกับลูกค้า 


สำหรับ บล.กสิกรไทย เน้นรูปแบบออนไลน์ในการสื่อสารกับลูกค้า มีทั้งวิดีโอผ่านช่องทาง Facebook Live และช่องทาง Youtube โดยจัดรายการที่มอบความรู้ให้กับลูกค้าในแต่ละวัน ในปัจจุบัน มีรายการที่โลดแล่นอยู่ในโลกออนไลน์ และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี


เทคโนโลยีเข้ามามีผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์พอสมควร และต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีการเขียนโปรแกรมด้วยหุ่นยนต์ขึ้นมาแล้ว ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งผลต่อนักวิเคราะห์ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศอาจจะไม่ได้ใช้นักวิเคราะห์แล้ว แต่หันมาใช้หุ่นยนต์และแนะนำหุ้นออกมาเลยได้ ซึ่งปัจจุบันมีแล้วแต่ไม่ได้แพร่หลาย ดังนั้น นักวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก จึงต้องดูสินทรัพย์อื่นประกอบด้วย ทุกคนต้องพึงระวังและปรับตัวให้ได้” 


เป้าหมายการทำงานในอนาคต


เมื่อถามถึงเป้าหมายชีวิตและการทำงานที่วางแผนไว้ในอนาคต สรพลบอกว่า ตัวเองอยู่ในแวดวงตลาดหุ้นสายงานนักวิเคราะห์มา 9 ปี ชีวิตส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับตลาดหุ้น ดังนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะให้เวลาให้มากขึ้นกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ค่าเงิน พันธบัตร ทองคำ และน้ำมัน รวมไปถึงบิตคอยน์ และตลาดหุ้นต่างประเทศ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 


ผมเชื่อว่าปัจจุบันความรู้เรื่องหุ้นจะทันกันหมด นักลงทุนบางท่านเก่งกว่านักวิเคราะห์ ดังนั้นสิ่งที่ผมจะก้าวต่อไปข้างหน้า คือ เข้าไปอยู่ในโลกของสินทรัพย์การลงทุนด้านอื่นๆ นอกจากหุ้น และมองว่านักลงทุนควรมีทุกสินทรัพย์ในพอร์ตเพื่อการเรียนรู้” 


สุดท้ายนี้ สรพล ฝากแง่คิดถึงผู้ที่สนใจจะก้าวสู่อาชีพนักวิเคราะห์การลงทุนว่า อยากให้คนรุ่นใหม่มองอาชีพนี้เป็นอีกตัวเลือกของการลงทุน การประสบความสำเร็จได้ช่วงแรกอาจจะขรุขระ หากเทียบกับอาชีพอื่นรายได้อาจจะน้อยกว่า ต้องลงทุน ลงแรง และต้องใช้เวลากว่า 70-80% ของชีวิตเพื่องานวิเคราะห์ ที่อาจทำให้หลายคนท้อถอย อีกทั้งมีการแข่งขันสูงด้วย 


สำหรับใครที่สนใจอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ขอให้อดทนกับระยะสั้น ให้เวลาเสียสละกับงานก่อนที่จะเติบโตในอนาคต เพราะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ถือเป็นอีกอาชีพที่แนะนำว่าน่าสนใจมาก อีกทั้งได้ความภาคภูมิใจในเรื่องของโอกาสที่เราอาจเป็นคนเล็กๆที่จะได้เข้าถึงผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ถือเป็นอะไรที่ดี ไม่มีใครสร้างใบเบิกทางให้เราได้นอกจากตัวเอง” 

 

ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ฉบับที่ 471 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi