INTERVIEW • PEOPLE

People : กฤช ปัทมวิชัยพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บลจ.วรรณ จำกัด

กฤช ปัทมวิชัยพร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ

บลจ.วรรณ จำกัด

 

สร้างคน สร้างงาน สร้างรอยยิ้ม สร้างความสำเร็จ

  

ผู้ที่ทำงานในสายงานสนับสนุน หรือแบ๊กออฟฟิศ (Back Office) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือ บลจ.นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำข้อมูลให้มีความถูกต้อง แม่นยำ ต้องอาศัยความละเอียดในการทำงานเป็นอย่างมาก เพราะชุดข้อมูลที่ถูกต้องจะสร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนักลงทุน ดังนั้นการบริหารงานในส่วนของแบ๊กออฟฟิศจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆก็ทำได้

กฤช ปัทมวิชัยพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด คือ ผู้ที่มีประสบการณ์ในส่วนของ Back Office เกือบทั้งชีวิตการทำงาน ผ่านประสบการณ์ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่จนถึงระดับผู้บริหาร มาร่วมงานกับบลจ.วรรณ เมื่อ 3 เดือนก่อน ด้วยเหตุผลสั้นๆประโยคเดียวว่า ต้องการความท้าท้ายในช่วงโค้งสุดท้ายของอายุการทำงาน

บทบาทของ กฤช ที่บลจ.วรรณ จะดูแลสายงานสนับสนุนทั้งหมด โดยมีทีมงานที่รับผิดชอบ ประมาณ 40 คน เรียกได้ว่าเป็นทีมกองหนุนให้กับทัพหน้าหรือ Front Office เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

 

ประสบการณ์สายงานสนับสนุน

ในธุรกิจกองทุนรวม กว่า 30 ปี

เมื่อฟังกฤชเล่าประวัติการทำงาน ก็ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้...สายงานสนับสนุนโดยตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 2531 กฤชก็เข้าทำงานในบลจ.แรกของประเทศไทยคือ บลจ.เอ็มเอฟซีในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับบัญชีกองทุนรวม

เรียกได้ว่าอยู่ในสายงานแบ๊กออฟฟิศมาตั้งแต่ต้น แม้จะมีช่วงเวลาสั้นๆ หรือประมาณ 2 ปี กฤชได้ออกนอกเส้นทางสายงานสนับสนุนเพื่อหาประสบการณ์ในสายงานนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ แต่สุดท้ายก็วกกลับมาทำงานสายงานสนับสนุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกฤชบอกว่า บลจ.วรรณคือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตการทำงาน

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานในอุตสาหกรรมกองทุนรวม กฤชยังได้มีส่วนร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ในการออกแนวปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าเป็นแนวปฏิบัติทางบัญชีและหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเคยมีส่วนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะตัวแทนอุตสาหกรรมกองทุนรวมเพื่อร่วมกำหนดหลักเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กองทุนในช่วงปี 2535

 

จากคนสู่ระบบ จากระบบสู่คน

สะท้อนผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน

กฤชได้กล่าวถึงหลักในการทำให้นักลงทุนมั่นใจในบลจ.วรรณ ว่า คือเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและผลตอบแทนที่จะมอบให้แก่นักลงทุน อีกทั้งต้องเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนพอใจด้วย สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือนักลงทุนย่อมต้องการความสะดวกสบายในการซื้อ-ขาย ต้องง่าย ไม่ซับซ้อนและไม่ยุ่งยาก แต่ต้องปลอดภัย ข้อมูลถูกต้องไม่รั่วไหล นั่นคือ ภาระและหน้าที่ที่เขาต้องทำให้ได้

องค์กรจะไปถึงเป้าหมายได้ต้องพัฒนา 2 เรื่องพร้อมกันคือ บุคลากร และระบบ โดยคนเป็นผู้สร้างระบบในขณะเดียวกันระบบก็สร้างคนถ้าคนไม่มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่ดีตั้งแต่แรกก็ไม่สามารถสร้างระบบที่ดีได้ ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องทำคือ ดึงศักยภาพของคนออกมาให้มากที่สุด และพัฒนาระบบไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติงาน ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น ต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และยุคสมัย เพื่อสะท้อนไปยังผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนทุกคน

หลักในการบริหารงานของกฤช จะให้ความสำคัญกับคนด้วยการส่งเสริมให้บุคลากรหาความรู้ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2562 ที่มีการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่บุคลากรพึงรู้ นอกจากนั้น ต้องฝึกให้กล้าแสดงออก สามารถนำเสนอสิ่งที่คิดได้อย่างอิสระ ส่วนผู้บริหารต้องรับฟังความคิดเห็น ต้องเปิดใจกว้าง เพราะในบางครั้งความคิดของผู้ใต้บังคับบัญชาอาจมีเรื่องที่คาดไม่ถึง ดังนั้นถ้าบุคลากรกล้าแสดงออกก็จะสามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ และมีความสุขในการทำงาน

นอกจากการส่งเสริมเรื่องความรู้แล้วบรรยากาศในการทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นบรรยากาศในที่ทำงานต้องสร้างให้ทุกคนมีความรู้สึกอยากมาทำงาน มีความสุขกับงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กร ทุกอย่างต้องทำให้คนในองค์กรมีความรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้

การให้ความสำคัญกับทีมงาน จะทำให้เขาทำงานอย่างเต็มที่ การให้ความสำคัญในที่นี้คือการให้อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ต้องเคารพความคิดเห็นของทุกคน และไม่ก้าวก่ายเแต่คอยแนะนำ ทำให้เขารู้สึกว่าทำงานอย่างมีคุณค่า นอกจากนี้ต้องตอบแทนในความทุ่มเท ไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่ ต้องตอบแทนเรื่องใจด้วย เช่น การให้ความรัก การดูแล ห่วงใย และใส่ใจเหมือนพี่น้องในครอบครัว

ในส่วนของระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบงาน ตลอดจนขั้นตอนการทำงาน กฤชกล่าวว่า โปรแกรมที่ใช้ บลจ.วรรณมีระบบที่มีพื้นฐานดีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือทำอย่างไรให้ตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนให้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนต้องการความสะดวกสบาย เรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ดังนั้นระบบเดิมที่มีอยู่ต้องพิจารณาว่าสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้หรือไม่

การพัฒนาระบบที่ดีต้องมีความถูกต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และทุกระบบที่ทำจะต้องมีการถ่วงดุลกัน เช่น เมื่อทำแล้วก็ต้องมีการตรวจสอบควบคู่กันไป เพราะถ้ามีการตรวจสอบอยู่เสมอโอกาสเกิดความผิดพลาดก็น้อย นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลทางดิจิทัลเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ

นอกจากนี้ ระบบที่อยู่บนดิจิทัล แอปพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ต่างๆ ต้องมีการปรับเช่นกัน ในอดีตนักลงทุนเมื่อต้องการซื้อกองทุนต้องติดต่อธนาคารหรือมาที่บลจ.เองซึ่งในปัจจุบันไม่ต้องแล้ว เพราะมีการเปิดบัญชีออนไลน์ การรับส่งข้อมูลหลายเรื่องในปัจจุบันถูกทำบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและในอนาคตจะมีการตรวจสอบยืนยันตัวจนในระบบดิจิทัลหรือ NDID ดังนั้น การพัฒนาเรื่องดิจิทัลจึงต้องพร้อมที่จะรองรับข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะฉะนั้นในอนาคตบลจ.ต่างๆจะเริ่มแข่งขันกันเรื่องการพัฒนาความสะดวกสบายของระบบมากขึ้น

 

ละเอียด-รอบคอบ

ตั้งเป็นกรอบแห่งความสำเร็จ

ย้อนกลับไปในช่วงแรกของการทำงาน กฤชได้เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงนั้นว่า การนำราคาเปิดราคาปิดของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ เวลานั้นไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นต้องฟังจากวิทยุและจดข้อมูล

สมัยก่อนมีหุ้นแค่ไม่กี่สิบตัวก็พอจดได้ จากนั้นนำข้อมูลมาคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) กองทุน เพราะฉะนั้นการจะออกกองทุน 1 กองในสมัยนั้นต้องใช้คนดูแลอย่างน้อย 4 คน เพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่ยุคปัจจุบันหนึ่งคน สามารถคำนวณ NAV กองทุนได้มากถึง 10-20 กอง

จากประสบการณ์ในจุดนี้ทำให้กฤชเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน เอาใจใส่ทุกข้อมูลอย่างถี่ถ้วน แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น อุตสาหกรรมกองทุนรวมก็เติบโตขึ้น และในอนาคตอันใกล้แม้ในโลกดิจิทัลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันก็ตามแต่การดูแลระบบต่างๆก็ยังคงต้องใช้คนและต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบข้อมูลเช่นเดิม

งานหลังบ้านเป็นงานที่ต้องทำข้อมูล สำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมนั้น ข้อมูลถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงินของผู้ถือหน่วยลงทุน ฉะนั้นความเชื่อมั่นของลูกค้าจะมาจากข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อมูลนั้น

สำหรับความผิดพลาดในการทำงาน ในมุมองของกฤช เขาบอกว่าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะการทำงานทุกอย่างมีพื้นฐานมาจากคน แม้จะเป็นคอมพิวเตอร์ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน ดังนั้นสามารถทำงานผิดได้เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำงานผิดตั้งแต่ต้น แต่เมื่อผิดแล้วต้องรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองและพร้อมที่จะแก้ไข

เมื่อทีมทำงานผิดพลาด ผมจะไม่ต่อว่า เพราะคนเราผิดได้ ไม่มีใครอยากทำงานผิด แต่จะแนะแนวทางการแก้ไขและการที่ลูกน้องสารภาพผิดก็เท่ากับว่าเขารับผิดแล้ว ในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีความจำเป็นต้องไปซ้ำเติม

ด้วยระยะเวลากว่า 30 ปีทำให้กฤชได้ก้าวขึ้นสู่เป้าหมายสุดท้ายในชีวิตการทำงานโดยการยึดมั่นจากทั้งแนวคิดการทำงานที่เน้นในเรื่องของความถูกต้องครบถ้วน อีกทั้งยังมีทัศนคติในการบริหารที่เป็นที่รักของบุคลากรภายในองค์กรมาตลอดจึงทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าทุกงานที่ผ่านมือของกฤชนั้นผ่านความตั้งใจในการทำงานมาอย่างเต็มที่เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด

เป้าหมายสุดท้ายในการทำงานที่บลจ.วรรณของกฤชคือทำให้ระบบดี คนมีความสุข ใช้ความสามารถอย่างสุดความสามารถพอเอ่ยถึงบลจ.วรรณก็มีแต่คนอยากมาร่วมงานด้วย บุคลากรก็มีความสุข ได้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในแง่ของสวัสดิการและจิตใจ หากนักลงทุนพอใจกับผลการดำเนินงานของบลจ.วรรณ เท่ากับตัวเขาเองได้บรรลุเป้าหมายในการทำงาน

สุดท้ายนี้ กฤชได้ฝากถึงผู้ที่สนใจทำงานในสายงานสนับสนุน หรือแบ๊กออฟฟิศว่า ต้องรู้ศักยภาพตัวเองว่ามีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานหรือไม่ และอีกเรื่องที่สำคัญคือบุคลิกภาพและอุปนิสัย เพราะสายงานดังกล่าวเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูง เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางจึงเป็นงานที่มีความท้าทายสูง

 

ติดตามคอลัมน์ People  ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ฉบับที่ 462 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi

หรือช้อปออนไลน์ที่ Shopee : https://shopee.co.th/shop/92758388/search?shopCollection=28050983