INTERVIEW • PEOPLE

People : พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล

พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล
 
แตกไลน์ธุรกิจอย่างรอบคอบ
หนุนรายได้เติบโตแข็งแกร่ง
 

บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (GPI) หรือที่รู้จักกันดีในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Intornational Motor Show” งานมหกรรมการแสดงยานยนต์ระดับประเทศ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2560 ด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ และธุรกิจรับจ้างพิมพ์

ล่าสุดได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะจากการนำทีมโดย พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้มองเห็นโอกาสจากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รวมถึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม

 

เริ่มต้นจากความชอบ

บริหารอย่างประนีประนอม

พีระพงศ์เล่าว่า ก่อนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจสื่อและการจัดงานแสดงยานยนต์มีจุดเริ่มต้นมาจากการชื่นชอบการตกแต่งรถในสมัยที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้มีโอกาสเขียนคอลัมน์แต่งรถในนิตยสารกรังด์ปรีซ์ หลังจากนั้นก็ทดลองจำหน่ายด้วยการแยกเป็นเล่มเล็กๆ แนบไปกับนิตยสารกรังด์ปรีซ์ ก่อนจะเปิดนิตยสารอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า XO Autosport เป็นนิตยสารที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการแต่งรถ

โดยจุดเด่นของนิตยสารเล่มนี้อยู่ที่สำนักแต่งรถที่มีชื่อเสียงจำนวนมากให้คำแนะนำการใช้งานอุปกรณ์เพื่อเพิ่มสมรรถนะรถที่ถูกต้อง เติมเกร็ดความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้คนแต่งรถ จึงทำให้ได้เริ่มดูแลธุรกิจตั้งแต่เด็กและมีทักษะที่หลากหลาย เพราะมีโอกาสทำงานในหลายแผนก อาทิ แผนกงานเขียน งานถ่ายภาพ ดูดีไซน์ต่างๆ ของแผนกอาร์ตเวิร์ก รวมถึงงานในแผนกการเงิน-การบัญชี จัดซื้อ ธุรการ และแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ซึ่งใช้เวลานานกว่า 10 ปี

การเรียนรู้งานหลากหลายแผนกในอดีต ส่งผลให้สไตล์การบริหารของเราค่อนข้างประนีประนอม เพราะเรารู้ว่าแต่ละแผนกมีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน เราจึงพยายามให้แต่ละแผนกทำงานอย่างประสานกันและเข้าใจซึ่งกันและกัน

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่

       1. ธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด

       2. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่ และ

       3. ธุรกิจรับจ้างพิมพ์ โดยในส่วนของธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด

บริษัทเป็นผู้จัดงาน Bangkok International Motor Show หรือมอเตอร์โชว์ ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมยานยนต์ ยนตกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เทคโนโลยี เครื่องเสียงรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เป็นต้น และงาน Bangkok Used Car Show เป็นงานแสดงและจัดจำหน่ายรถยนต์มือสอง

นอกจากนี้ บริษัทก็เป็นผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งที่เป็นกิจกรรมของบริษัทเอง เช่น การจัดการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ (Motor Show) รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับบริษัทยานยนต์ชั้นนำเกือบทุกค่าย เช่น กิจกรรมทดสอบสมรรถนะของยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับงาน Bangkok International Motor Show จัดขึ้นทุกปีในประเทศไทย และล่าสุด บริษัทมีศักยภาพจัดงานมอเตอร์โชว์ในต่างประเทศด้วย โดยมีชื่องานว่า Yangon Motor Show ซึ่งจัดขึ้นในประเทศเมียนมา จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ทั้งนี้ งานมอเตอร์โชว์ในเมียนมายังอยู่ในจุดเริ่มต้น จึงอยากจะเน้นส่งเสริมให้งานนี้เติบโตตามแผนก่อน ทำให้ยังไม่มีแผนที่จะขยายการจัดงานในต่างประเทศในประเทศอื่น


พีระพงศ์กล่าวว่า จุดเด่นของงานมอเตอร์โชว์คือ เรามีมาตรฐานในการจัดงาน พร้อมที่จะเอื้ออำนวยและสร้างประสิทธิภาพที่ดีที่สุด รวมถึงมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างแน่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทที่ร่วมออกงานมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์

สำหรับปีนี้ งานมอเตอร์โชว์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้เลื่อนงานแสดงออกไป ทั้งนี้ เรามองว่า คนจะเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้รูปแบบการจัดงานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยรถที่นำมาโชว์อาจจะน้อยลง เพื่อให้มีพื้นที่ว่างในการชมงานมากขึ้น ตามแนวทาง Social Distancing การทดลองรถอาจจะมีขั้นตอนการทำความสะอาดมากขึ้น หรืออาจจะเห็นแฟชั่นชุดใหม่ๆ ของพรีเซ็นเตอร์รถ

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการจัดแสดงงานออนไลน์ คงพูดได้ว่าไม่สามารถทดแทนงานมอเตอร์โชว์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากงานมอเตอร์โชว์ของบริษัทไม่เพียงแต่โชว์ยานยนต์ใหม่เท่านั้น แต่รวมถึงงานที่สร้างประสบการณ์ต่างๆ ให้ลูกค้าด้วย เช่น งานขาย งานแสดงรถหายาก งานแสดงของเหล่าสาวๆ ส่งเสริมการขาย เป็นต้น งานมอเตอร์โชว์ จึงถือได้ว่าเป็นกิจกรรมครอบครัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็พยายามใส่รูปแบบประสบการณ์อย่างอื่นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทมีธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อรูปแบบใหม่ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ตกแต่ง นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นิตยสารกรังด์ปรีซ์ นิตยสารออฟโรด นิตยสาร XO Autosport รวมถึงนิตยสารเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เช่น นิตยสารการาจไลฟ์ เป็นต้น

ปัจจุบันเตรียมขยายฐานลูกค้าเพิ่ม ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชั่น Car Buddy เพื่อเป็นตัวช่วยหาอู่ซ่อมรถประเภทต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทก็ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์ด้วย โดยเป็นผู้รับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ แบบครบวงจรให้แก่บริษัทอื่น

ทั้งนี้ ได้มีการต่อยอดธุรกิจด้วยการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาการจัดการงานให้มีระบบมากขึ้น รวมถึงพัฒนางานและบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ ก็พยายามใช้สื่อออนไลน์และออฟไลน์อย่างประสานกัน เพื่อให้ทั้ง 2 แพลตฟอร์มเสริมกันและกันและเกิดประโยชน์สูงสุด

ยังเชื่อว่าธุรกิจเรายังไปต่อได้ จึงพยายามต่อยอดงานแสดงสินค้าของเราด้วยการเพิ่มกิจกรรมรูปแบบอื่นที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า และพัฒนางานให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็มองหาธุรกิจใหม่ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ เราคาดว่าธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ประสานกัน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจใหม่

หนุนรายได้เติบโตเพิ่ม

พีระพงศ์เล่าต่อว่า ล่าสุด บริษัทแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 25.45% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของทรูเอ็นเนอร์จี ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 250 ล้านบาท เพื่อลดการพึ่งพารายได้หลักจากกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และเล็งเห็นโอกาสจากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะด้วย

ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีความคืบหน้าการก่อสร้างกว่า 95% คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ภายในไตรมาส 3/2563 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า หลังจากนั้นราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานและนโยบายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การเข้าลงทุนครั้งนี้นับเป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่ของบริษัทหลังจากได้พิจารณาโอกาสการลงทุนในธุรกิจต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งสิ้นปีละประมาณ 400 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาคืนทุน 5 ปี ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างผลการดำเนินงานในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทกำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจจัดการแข่งขันเกมส์มอเตอร์สปอร์ตทางออนไลน์ผ่านระบบ Live Streaming (Digital Motor Sport) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต โดยมี COVID-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นตัวเร่งให้การแข่งขันได้รับความนิยมจากคนดูเพิ่มขึ้นอย่างมาก

พีระพงศ์เล่าต่อว่า ปัจจัยที่บริษัทตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เพราะมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF เป็นธุรกิจที่มีรายได้แน่นอนและมีความสม่ำเสมอในระยะยาว ประกอบกับทรูเอ็นเนอร์จีเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังใช้เชื้อเพลิงที่มาจากการแปรรูปขยะชุมชน เป็นการช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้บริษัทต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด บริษัทจึงมีระบบการทำงานที่มีระเบียบมากขึ้นและสามารถรักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับที่ดีได้ นอกจากนี้ ยังทำให้การตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมจะต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะมีผู้ถือหุ้นที่เราต้องคำนึงด้วย ซึ่งเรามั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่เกิดปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ติดตามคอลัมน์ People  ได้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ฉบับที่ 458 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi