INTERVIEW • PEOPLE

People : ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

พัฒนาทรัพย์สินภาครัฐ

สร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจ สังคม

 

บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจในการพัฒนาทรัพย์สินของภาครัฐให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ด้วยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นำไปสู่ความยั่งยืนในการดูแลธุรกิจช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบายของภาครัฐ โดยมี ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. นักบริหารมืออาชีพกับภารกิจในการบริหารพัฒนาและจัดการสินทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

บริหารองค์กรแบบมืออาชีพ

เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินภาครัฐ

ดร.นาฬิกอติภัค สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปริญญาโท สาขา Operations Research จาก Stanford University สหรัฐอเมริกาปริญญาโท สาขา Operations Research และปริญญาเอก สาขา Interdisciplinary จาก Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) สหรัฐอเมริกาจากนั้นกลับมาเริ่มงานที่ประเทศไทย ด้วยการรับราชการทหารจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ก่อนจะตัดสินใจลาออก เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการทำงานด้วยการรับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากนั้นก็มีโอกาสได้บริหารงานในหลากหลายหน่วยงาน อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร,กิจการโคนมแห่งประเทศไทย,การท่าเรือแห่งประเทศไทยกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะกรรมการจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น โดยล่าสุดเมื่อ 2562 ได้ตัดสินใจกระทั่งตัดสินใจสมัครเป็นกรรมการผู้จัดการที่ ธพส. และผ่านการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า ธพส. จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ตามมติของคณะรัฐมนตรีมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% เพื่อทำหน้าที่ในการลงทุนก่อสร้างอาคาร และบริหารโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550และบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์

ภารกิจหลักคือการบริหารงานเพื่อทำให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสมัยใหม่ที่สามารถพัฒนาทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างมืออาชีพตามหลักธรรมาภิบาล

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ การบริหารและพัฒนาศูนย์ราชการฯ ในส่วนของโซน A และโซน เพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่าและพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยล่าสุด ได้รับมอบหมายให้พัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชฯ การอาคารสำนักงานโซน C ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานประหยัดพลังงาน เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน

โดยเป็นอาคารสูง 11 ชั้น (รวมลานจอดรถใต้ดิน) มีพื้นที่ให้เช่าใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานประมาณ 350,000 ตารางเมตรตั้งอยู่ติดกับโครงการศูนย์ราชการฯ บนพื้นที่ 81 ไร่เศษ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 22,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธพส.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการในลักษณะของการระดมทุนค่าก่อสร้างโดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) และเป็นผู้บริหารโครงการทั้งหมด ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามแผนงานคาดว่าโครงการจะสร้างเสร็จในปลายปี 2564

 

เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์หลัก

สร้างมูลค่าเพิ่มทรัพย์สินภาครัฐ         

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า การที่บริหารให้องค์กรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาทรัพย์สินของรัฐที่มีประสิทธิภาพได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูงอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการใหม่ๆ ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้ง ต้องมีระบบงานเทคโนโลยี ข้อมูลสารสนเทศ ที่ทันสมัย ที่สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรได้เป็นอย่างดีมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงที่สำคัญลูกค้าต้องมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อ ธพส. ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ

       ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารโครงการและสินทรัพย์ การริเริ่มโครงการพัฒนาทรัพย์สินของรัฐใหม่ เพื่อให้องค์กรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารและพัฒนาโครงการพัฒนาทรัพย์สินของรัฐที่มีประสิทธิภาพตามกลยุทธ์ในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสมการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าและสร้างการเติบโตของสินทรัพย์

        ยุทธศาสตร์ที่ 2 การทำการตลาดและการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยมุ่งเน้น CSR in Process เพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้ารวมถึงผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทยกระดับการให้บริการ และสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร รวมถึงการบริหารจัดการอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การบริหารจัดการอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการภายในศูนย์ราชการและเป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจในการพัฒนาทรัพย์สินของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด

       ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับบุคลากรให้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและรองรับโครงการใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีสมรรถนะสูงอย่างเพียงพอ สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผนงานโครงการใหม่ได้ตามเป้าหมายพร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการเพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความเป็นมาตรฐาน ตอบสนองความพึงพอใจสูงสุดของพนักงานอีกทั้งสามารถขับเคลื่อนผลการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล พัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพ และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และการพัฒนา

       ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบงาน เทคโนโลยี ดิจิทัลและนวัตกรรมให้ทันสมัย เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากร เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมอย่างมีระบบและยกระดับการบริหารจัดการองค์กรตามระบบประเมินผลใหม่

       ยุทธศาสตร์ที่ 5 การบิรหารจัดการทงการเงินให้มั่นคงมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริหารเงินและจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สามารถติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผน และได้รับประโยชน์สูงสุด

       ยุทธศาสตร์ที่ 6 การส่งเสริมให้องค์กรมีหลักธรรมาภิบาล ตามแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลกิจการที่ดีผลักดันนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีลงไปสู่การปฏิบัติ การสร้างเครือข่ายดำเนินกิจกรรมด้านธรรมาภิบาลภายในศูนย์ราชการ สนับสนุนนโยบายการต่อต้านทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และพัฒนากระบวนการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีมาตรฐาน

 

ปรับโครงสร้างองค์กร

เป็นรัฐวิสาหกิจล้ำสมัย

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อให้เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความล้ำสมัย โดยบริษัทได้มีการจัดตั้งฝ่ายพัฒนาธุรกิจที่แยกออกมาจากฝ่ายการตลาด เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้นซึ่งบุคลากรในฝ่ายนี้จะเป็นลักษณะสัญญาจ้างงานตามระยะเวลาของโครงการ เช่น 2 ปี 4 ปี เป็นต้น ซึ่งเมื่อจบโครงการหากบริษัทเล็งเห็นว่าพนักงานหรือทีมงานที่กำลังจะหมดสัญญาจ้าง ยังสามารถสานงานด้านการตลาดต่อได้ก็จะทำสัญญาจ้างใหม่เพื่อดูแลลูกค้าและโครงการจนจบโปรเจ็กต์ที่ตั้งไว้ จากเดิมที่พนักงานต้องอยู่จนครบอายุ 60 ปี

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า ในการบริหารองค์กรให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้น ธพส.ได้กำหนดพันธกิจ (Mission) 4 ประการ ดังนี้ 1. พัฒนาศูนย์ราชการให้ทันสมัย และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล 2. พัฒนาทรัพย์สินของรัฐ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม 3. พัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ที่หลากหลาย และสร้างประโยชน์แก่รัฐ 4. พัฒนาองค์กรด้วยการบริหารจัดการสมัยใหม่

เป้าหมายคือ การเป็น ดิเวลอปเปอร์ภาครัฐ ที่มีความรับผิดชอบปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า

สำหรับภารกิจของ ธพส.ในปี 2563 คือ การเพิ่มพื้นที่โครงข่ายจราจร การเพิ่มพื้นที่จอดรถการจัดระบบคมนาคม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบของศูนย์ราชการ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ธพส.ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยไปแล้วกับถนนหมายเลข 8 ที่ตัดจากศูนย์ราชการไปเชื่อมต่อกับโลคัลโรดซึ่งเตรียมการมากว่า 13-14 ปี แต่มาแล้วเสร็จเรียบร้อยในปี 2562 เพื่อระบายรถจากศูนย์ราชการไปออกโลคัลโรด และเตรียมขยายเส้นทางเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อไปยังถนนวิภาวดีรังสิต ต่อไป

รวมถึงการก่อสร้างอาคารโซน C พร้อมที่จอดรถ 1,500-1,700 คันพร้อมชั้นจอดรถใต้ดินอีก 4,300 คัน และจัดสร้างพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าของลานจอดรถ เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนการสร้างลู่วิ่ง จัดตั้งแผงโซลาร์เซลส์เพื่อประหยัดพลังงาน การสร้างสโมสรข้าราชการเพื่อเป็นที่พบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจของข้าราชการ ลูกค้าผู้มาติดต่อราชการการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมทั้งในส่วนของอาคารโซน A และอาคารโซน B รวมถึงบริเวณโดยรอบศูนย์ราชการเพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์คใหม่ เพื่อแบ่งปันให้กับชุมชนโดยรอบและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐอีก 13 แปลง มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมก่อสร้าง ซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ใกล้กับศุนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ในรูปแบบของคอนโดประมาณ 1,400 ห้อง โดยอยู่ระหว่างการออกแบบคาดว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2563 จะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและเปิดให้จองได้

ทั้งนี้ บริษัทสามารถเข้าไปบริหารโครงการได้ตามความต้องการของลูกค้าในทุกรูปแบบอย่างไม่มีข้อจำกัด หากภาครัฐอนุมัติให้ ธพส.เข้าไปดำเนินการทั้งในรูปแบบของการสนองนโยบายของภาครัฐ หรือการขยายฐานลูกค้าใหม่ของธพส.เองรวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของธพส.ได้อย่างรวดเร็ว

โดยธพส.จะการนำข้อมูลพื้นที่ให้เช่าของธพส.ทั้งหมดที่เคยอยู่ในระบบออฟไลน์ไปสู่การนำเสนอข้อมูลบนออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกดูข้อมูลพื้นที่เช่าของธพส.ทั้งหมดว่ามีพื้นที่ส่วนไหนที่ว่างและพร้อมจะเปิดให้เช่าใหม่ ขนาดพื้นที่เท่าไหร่ แผนผังการจัดตั้งอย่างไร ตั้งอยู่บริเวณไหน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจจอง หรือประมูลผ่านออนไลน์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และลดต้นทุนในการบริหารจัดการของธพส.ได้เป็นอย่างดี

 

ลดค่าเช่าเยียวยาลูกค้า

พร้อมสู้ภัยโควิดร่วมกัน

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะทำให้บริษัทมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง จากการที่ต้องปิดศูนย์ประชุมเชียงใหม่ และสนามกอล์ฟบางพระที่บริษัทเข้าไปบริหารจัดการลงตามมาตรการของภาครัฐซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เชิงพาณิชย์และค่าเช่าต่อปีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ขณะที่มีรายได้จากค่าเช่า 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 80%

โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 321 ล้านบาท ทั้งนี้จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ บริษัทจะมีกำไรลดลง 81 ล้านบาทหรือลดลงไปประมาณ 25-26% ซึ่งความท้าทายในการบริหารงานไม่ได้อยู่ที่กำไรที่ลดลง แต่ความท้าทายจะอยู่ที่การที่ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับกับการลดลงของกำไรสุทธิว่าเกิดจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ซึ่ง ธพส.ได้ออกมาตรการเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19โดยการลดค่าเช่าและค่าบริการ ในกรณีที่ลูกค้าเปิดกิจการจะได้รับส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 50% หากลูกค้าปิดกิจการชั่วคราว จะได้รับส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 100%และหากลูกค้ามีการชำระค่าเช่าและค่าบริการ หรือค่าสิทธิล่วงหน้า ธพส.จะขยายระยะเวลาสัญญาให้สูงสุด 6 เดือนระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563

มาตรการดังกล่าวเป็นการจัดการและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบโควิดอย่างเต็มที่และตั้งใจ ตามมาตรการสาธารณสุข เยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยให้อุ่นใจให้กับลูกค้าทันทีเมื่อลูกค้าได้รับผลกระทบโดยลูกค้าไม่ต้องร้องขอจากบริษัทเลย

 

ติดตามคอลัมน์ People  ได้ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ฉบับที่ 459 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi