INTERVIEW • PEOPLE

People : ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด

ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด

สินทรัพย์ดิจิทัล อนาคตแห่งการลงทุน

 

หากกล่าวถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนหลายคนคงคิดถึง บิตคอยน์เป็นอย่างแรก และมักจะมีคำถามตามมาอยู่เสมอว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความปลอดภัยหรือสามารถลงทุนได้เหมือนสินทรัพย์ประเภทอื่นหรือไม่ รวมถึงประเทศไทยมีความพร้อมระดับไหนที่จะรองรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลายคนมักจะเรียกติดปากกันว่าการลงทุนแห่งอนาคต              

 “ผมรู้จักสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคริปโตเคอร์เรนซี หรือดิจิทัลโทเคน และจากประสบการณ์การทำงาน ทำให้ได้เห็นกระแสหลายอย่างที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันผมเชื่อจริงๆว่า สินทรัพย์ดิจิทัล คือ อนาคต แม้ว่าตามกฎหมายในประเทศไทย สินทรัพย์ดิจิทัล จะยังจัดเป็นสินทรัพย์ทางเลือกอยู่ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะไม่มีสินทรัพย์ทางเลือกที่เรียกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะสินทรัพย์ประเภทอื่นจะกลายเป็นดิจิทัลที่รันอยู่บนบล็อกเชนทั้งหมดแทน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อนุพันธ์ พันธบัตร หรือแม้กระทั่งเงิน

ประโยคข้างต้นคือ มุมมองของ ปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด ในโอกาสที่ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ถึงวิสัยทัศน์ต่อสินทรัพย์ดิจิทัลและกระแสของการลงทุนทั่วโลกที่เริ่มเปลี่ยนจากการลงทุนในรูปแบบเดิม ไปสู่การลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลโดยใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน

 

จากวาณิชธนกิจสู่ผู้บริหารเว็ปเทรด

เพื่อวางรากฐานการลงทุนแห่งอนาคต

ก่อนมาทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอที่อีอาร์เอ็กซ์ นั้น ปิ่นปราชญ์ เล่าว่าเดิมตนไม่ได้สนใจหรือมีความรู้ในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลมาก่อน เพราะงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรกคือ วาณิชธนกิจ (ไอบี) ทำให้เลือกเรียนในสาขาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน การลงทุน และการจัดการความเสี่ยง ที่ Skidmore College รวมถึง Master of Science-Finance จาก Case Bussiness school

หลังสำเร็จการศึกษา ปิ่นปราชญ์ ได้เริ่มทำงานที่เจ.พี. มอร์แกน แอนด์ โค รวมไปถึงเคยทำงานในสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยุคกรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ช่วง 20 ธันวาคม พ.ศ. 25519 สิงหาคม พ.ศ. 2554) ก่อนจะย้ายไปทำงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินที่ธนาคารยูบีเอส และบีเอ็นพี พารีบาส์ ในประเทศฮ่องกง นานถึง 8 ปี และท้ายที่สุดคือ Director of  Business Development ที่ Oriente

 “การทำงานในสำนักรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอนนั้นผมยังเด็ก จึงได้เรียนรู้จากคนเก่งรอบตัวและในทีมก็มีหลายคนที่เคยผ่านงานวาณิชธนกิจมาก่อนทำให้ได้แนวคิดมาจากการทำงานในช่วงนั้น”            

ส่วนเหตุผลที่ปิ่นปราชญ์เลือกฮ่องกงในการทำงานเพราะมองว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญเมืองหนึ่งในโลก ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้จากการทำงานเผยให้เห็นวิสัยทัศน์ทางการเงินที่กว้างและครอบคลุมกว่า และยังได้คอนเน็คชั่นที่กว้างไกลกว่าการทำงานในประเทศ

ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 10 ปี ปิ่นปราชญ์กล่าวว่าทำให้เขาได้เห็นถึงกระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค่อยๆเติบโตขึ้นทั่วโลก นอกจากนั้นกระแสดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่นที่เร่งให้การทำธุรกรรมแบบเดิมกลายเป็นเรื่องล้าสมัย จึงทำให้เริ่มสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

 “ผมมองว่าในอนาคตสินทรัพย์อื่นๆจะสามารถ Tokenize ไปเป็นโทเคนผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ทั้งหมด การลงทุนในอนาคตจึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก พอร์ตการลงทุนจะไม่ซ้ำจำเจอยู่แค่หลักทรัพย์เดิมๆ อีกต่อไป

จากเหตุผลข้างต้น จึงทำให้ปิ่นปราชญ์มีความคิดที่จะออกมาทำบริษัทเองเกี่ยวกับการใช้ฐานข้อมูลของผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์คในการคิดคำนวนข้อมูล แต่ท้ายที่สุดกลายมาเป็นเว็ปเทรดดิจิทัลโทเคน จึงทำให้รับตำแหน่งซีอีโอที่อีอาร์เอ็กซ์ในปัจจุบันที่ชูจุดแข็งเรื่องระบบกลไกที่ช่วยคุ้มครองนักลงทุนและตั้งเป้าเป็นเว็ปเทรดโทเคนดิจิทัลอันดับ 1 ในไทยและผู้นําในภูมิภาคเอเชีย

 

สินทรัพย์ดิจิทัล

ไม่ได้มีแค่คริปโตเคอเรนซี่เสมอไป

เมื่อปิ่นปราชญ์เข้ามายังโลกสินทรัพย์ดิจิทัล สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับอุตสาหกรรม คือ อีอาร์เอ็กซ์ เป็นเว็ปเทรดที่เปิดเทรดดิจิทัลโทเคนแห่งแรกในประเทศไทยแทนที่จะเป็นคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาด

ทั้งนี้ อีอาร์เอ็กซ์ ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

ส่วนเหตุผลที่ให้บริการเทรดดิจิทัลโทเคนเพียงอย่างเดียวนั้น ปิ่นปราชญ์บอกว่าเนื่องจากดิจิทัลโทเคนเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีการอ้างอิงกับสินทรัพย์ทั่วไป ทําให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ลงทุนทั่วไป รวมถึงผู้ลงทุนรายใหม่ อีกทั้งยังมีกลไกการรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้ลงทุนในทุกโทเคนที่มีการซื้อขายผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน และยังสามารถระบุถึงผู้ถือครองได้ ซึ่งจะแตกต่างจากบิตคอยด์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ถือครองได้ คนไหนที่มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วมีบิตคอยน์อยู่ในกระเป๋าก็ถือว่าเป็นเจ้าของ แต่สินทรัพย์ที่เทรดในกระดานของอีอาร์เอ็กซ์จะเหมือนหุ้นมากกว่า กล่าวคือ หุ้นมีนายทะเบียน โทเคนที่จะเทรดในกระดานของอีอาร์เอ็กซ์ ส่วนใหญ่จะมีนายทะเบียนด้วย และมีมูลค่ามาจากสินทรัพย์อ้างอิงที่มีตลาดอยู่แล้วในปัจจุบัน

ถ้าเราทำเงินหล่นหาย คนที่เก็บได้ก็จะกลายเป็นเจ้าของ แต่ถ้าเราทำใบหุ้นหาย เราสามารถไปที่นายทะเบียนได้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของของใบหุ้นได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่จะเทรดในอีอาร์เอ็กซ์ หากมีอะไรผิดพลาดเราก็ตามคืนมาได้จากบล็อกเชน

ปิ่นปราชญ์ยังอธิบายถึงชนิดต่างๆ ของโทเคนในปัจจุบันว่ามีด้วยกันสองรูปแบบ ดังนี้ 

        1. โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการที่คล้ายกับหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุน หรือมีสินทรัพย์จริงเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ดังนั้นความเสี่ยงในโทเคนตรงนี้จะถูกแทนที่ด้วยความเสี่ยงของสิ่งที่มันอ้างอิงอยู่แทน และนักลงทุนก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก สามารถเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ตนเองชอบได้อีก เพราะนักลงทุนจะได้ลงทุนในสิ่งที่รู้จักอยู่แล้วผ่านเทคโนโลยีใหม่ ทำให้นักลงทุนก็เปิดรับได้ง่ายขึ้น

         2. โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) คือโทคนถูกกำหนดสิทธิที่ ผู้ถือจะได้รับสิทธิในสินค้าและบริการต่างๆ หรือสิทธิอื่นๆ ตามที่ได้กำหนดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เช่น คะแนนสะสมจากบัตรเครดิต แต่โทเคนในปัจจุบันที่อยู่ในลักษณะของโทเคนเพื่อการลงทุนก็สามารถนำมาใช้เป็นโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ซึ่งแล้วแต่เงื่อนไขผู้ออกโทเคน ซึ่งจุดเด่นของโทเคนการลงทุนที่จะเทรดในกระดานอีอาร์เอ็กซ์ คือ การมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำลง สามารถแบ่งหน่วยลงทุนได้มากขึ้น จึงทำให้นักลงทุนมีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเงินลงทุนจำนวนไม่มากสามารถร่วมลงทุนได้ 

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมที่เติบโต

สะท้อนการยอมรับที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ปิ่นปราชญ์ มีมุมมองว่าถ้าเทียบไทยกับฮ่องกง ฮ่องกงก็ตื่นตัวอยู่พอสมควร เพราะเริ่มมีเว็ปเทรดเกิดขึ้นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบเป็นการเดินทาง สำหรับประเทศไทยถือว่าเรากำลังจะก้าวเดิน เพราะตอนนี้เริ่มมีอีโคซิสเต็ม มีเว็ปเทรด มีใบอนุญาต แต่สิ่งที่เราไม่มีคือโทเคนเหรียญแรกที่ออกมาภายใต้กฎหมายของไทย ตอนนี้คนไทยยังมองว่าเทคโนโลยีนี้ยังใหม่ เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มจะมีบทบาทจริงๆในไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่าเทคโนโลยีนี้สามารถไปต่อได้จริง

ปิ่นปราชญ์เสริมว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในไทยเรื่องกฎหมายและการควบคุมยังไม่ครอบคลุมเหมือนในปัจจุบัน จึงทำให้ภาพจำของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความปลอดภัยต่ำ นักลงทุนทั่วไปจึงไม่กล้ายุ่งกับสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการควบคุม มีการออกใบอนุญาตที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมนี้เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งการขยายตัวในลักษณะนี้จะเป็นเหมือนกันทั่วโลกไม่ใช่แค่เพียงบ้านเรา

สินทรัพย์ดิจิทัลเปรียบเสมือนการขับรถในที่ที่หมอกกลงหนา เราก็ไม่กล้าขับเร็ว แต่ถ้าเปิดไฟเราก็เห็นระยะทางได้ไกลขึ้น ความมั่นใจก็มีมากขึ้น เราก็กล้าขับรถเร็วขึ้นได้ เพราะฉะนั้นไฟรถก็เหมือนกฎหมายที่ควบคุมเรื่องพวกนี้อยู่ พอกฎหมายเริ่มชัดขึ้น มีผู้ดูแลชัดเจน ความปลอดภัยมากขึ้น ความมั่นใจจากนักลงทุนก็ตามมา ตลาดก็โต

อย่างไรก็ตาม ปิ่นปราชญ์ มองว่าแม้ภาพรวมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยจะโตขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่านักลงทุนบางกลุ่มก็ยังกลัวอยู่เพราะสามารถทำเงินได้มหาศาล และยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงก็พร้อมจะลงทุน ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะว่าผู้ที่กำกับและควบคุมจะเป็นคนปรับสมดุลในจุดนี้

 

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

จุดสำคัญ คือ ความปลอดภัย

ในปัจจุบันการแยกประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามทำให้นักลงทุนหรือคนส่วนใหญ่จะมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลก็คือสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ปิ่นปราชญ์แนะนำว่า สำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ควรมองว่าเป็นเพียงการลงทุนทางเลือก เพราะในความเป็นจริงแล้วสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การลงทุนที่มากับเทคโนโลยีบล็อกเชน

ตอนที่อินเทอร์เน็ตมาหลายคนก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ในช่วงแรกคนก็เริ่มใช้อีเมลส่งข้อความหากัน เริ่มใช้เว็ปเบราซ์เซอร์ เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆจนกลายเป็นอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่ทำได้หลายอย่างมาก อินเทอร์เน็ต คือเทคโนโลยีเลเยอร์ที่เป็นฐานให้เราพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ

ปิ่นปราชญ์ได้ให้ความเห็นว่า บล็อกเชนเหมือนอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้หลายอย่าง แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังมองภาพไม่ออกว่าบล็อกเชนสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง เหมือนกับอินเทอร์เน็ตในช่วงแรก โดยเมื่อ 20 ปีก่อนหากพูดถึงอินเทอร์เน็ต ผู้คนจะเข้าใจว่ามีไว้รับส่งอีเมล แต่ในปัจจุบันผู้คนสามารถทำธุรกรรมธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตได้จนเป็นเรื่องปกติ

บล็อกเชนก็เช่นกัน หากพูดถึงบล็อกเชนในวันนี้ ผู้คนจะนึกถึงสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอเรซี่ และบิตคอยน์ ซึ่งจากกระแสในปัจจุบันทำให้เห็นว่าในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า การยืนยันตัวตน การระบุอัตลักษณ์บุคคล ทะเบียนรถ ทะเบียนบ้าน หรือแม้กระทั่งการลงทุนในรูปแบบเดิมจะถูกนำไปอยู่บนบล็อกเชนมากขึ้น

เราไม่ต้องไปเรียนรู้ถึงขั้นว่าเทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร เพราะสุดท้ายสิ่งที่นักลงทุนต้องการก็คือผลตอบแทน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้ คือ ความปลอดภัย และความเชื่อมั่น หากต้องการจะลงทุนในบล็อกเชนก็ควรหาผู้ทให้บริการที่มีเครดิตสูง ควรจะมีผู้ควบคุมหรือมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ปิ่นปราชญ์มองว่า ณ วันนี้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เหมาะกับนักลงทุนที่พร้อมจะรับความเสี่ยงได้สูง เพราะหากกล่าวถึงสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียวที่ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปลงทุนกับโครงการที่เป็นในลักษณะของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นการทำสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) การนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการเก็บอัตลักษณ์ของบุคคล เช่นบัตรประชาชน ใบขับขี่ ประวัติทางการแพทย์ ซึ่งนักลงทุนที่จะลงทุนในเรื่องพวกนี้โดยตรงจะเห็นว่าใช้งบประมาณสูง ต้องศึกษาค้นคว้าอีกมาก ต้องใช้เวลา และมีความเสี่ยงสูง แต่เมื่อพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งที่อุตสาหกรรมจะเริ่มนิ่ง ความเสี่ยงลดลง และจะกลายเป็นเรื่องทั่วไปเช่นเดียวกับการลงทุนในรูปแบบอื่น

 

ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2564 ฉบับที่ 465 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi