INTERVIEW • PEOPLE

People : ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด

ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล

ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

บริษัท มันนิกซ์ จำกัด

พลังคนรุ่นใหม่ปั้น MONIX

เป็นเพื่อนซี้เรื่องการเงิน

ต้นปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศภารกิจครั้งใหญ่ “Moonshot” โดยส่ง SCB10X โฮลดิ้งคอมปะนี (Holding Company) บริษัทที่ดูแลด้านเทคโนโลยีของธนาคารที่เปรียบเสมือนยานแม่ในการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายพิชิตดวงจันทร์ โดยปรับวิธีการทำงานให้บริษัทลูกด้านเทคโนโลยีทำงานแบบ Startup เติบโตด้วยตัวเอง ซึ่งหนึ่งในยานลูกของ SCB10X คือ MONIX ที่ถูกปล่อยจากฐานไปแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่กับ Abakus ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีในหลากหลายสาขาจากประเทศจีน รวมถึงการพัฒนา AI และ Machine Learning เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจการเงิน ภายใต้ชื่อ บริษัท มันนิกซ์ (MONIX) จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการประกอบธุรกิจสินเชื่อ Digital Lending เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตในธุรกิจ Digital Lending ต่อไปในระยะยาว

ทั้งนี้ MONIX เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ Abakus Ltd. ถือหุ้นในสัดส่วน 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

MONIX เริ่มพัฒนาธุรกิจสินเชื่อ Digital Lending ผ่าน ห้าให้มันนี่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล เป็น ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด ที่บอกเล่าถึงที่มาของชื่อนี้ว่า

“MONIX มาจากคำว่า Money + Sonic หมายถึง ได้เงินเร็วราวกับสายฟ้าฟาด และต่อให้ไม่ได้ก็รู้ผลเร็วเช่นกัน เพราะ Pain Point สำหรับคนที่ต้องการสินเชื่อคือการรอนาน แถมให้รอนานไม่เท่าไหร่นะ แต่รอนานแล้วยังไม่ได้อีกมันก็น่าเจ็บใจ

 

หยิบเทคโนโลยีใส่ธุรกิจ

เดินหน้าปั้น ห้าให้มันนี่

เริ่มแรก ถิรนันท์ ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะ Head of SCB10X ในปี 2561 ด้วยการชักชวนจาก อาทิตย์ นันทวิทยาที่ขณะนั้นริเริ่มสร้างทีมใหม่เพื่อเป็นอนาคตให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ด้านเทคโนโลยี ก่อนหน้านั้น ถิรนันท์ เคยทำงานที่ Microsoft Thailand มาก่อน แม้จะข้ามจากฝั่งเทคโนโลยีมาสู่ธุรกิจธนาคารแต่ไม่ได้ถือกับพลิกผันมากเท่าไหร่นักเพราะช่วงที่ทำงานกับ Microsoft Thailand ก็เกี่ยวเนื่องกับSolution ธุรกิจการเงินอยู่แล้ว

“Passion ส่วนตัวสนใจในเรื่อง Disruptive และนวัตกรรมในธุรกิจอยู่แล้ว ชอบที่จะท้าทายการเปลี่ยนธุรกิจดั้งเดิมให้ก้าวไปสู่ขั้นที่ Disruptive ได้ ค่อนข้างมีความสุขกับการได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและมักสนุกกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยรู้

ถิรนันท์เล่าว่า จากที่เคยทำงานด้านเทคโนโลยีมาตลอด ทำให้ตระหนักดีว่าถ้าทำงานด้านธุรกิจเทคโนโลยีของธนาคารสำเร็จได้แล้ว จะไปทำอุตสาหกรรมไหนก็สำเร็จ เพราะเทคโนโลยีจะไม่มีประโยชน์ถ้าเปลี่ยนเทคโนโลยีให้กลายเป็นธุรกิจไม่ได้ และธุรกิจการเงินคือธุรกิจเดียวที่ยากที่สุด เพราะลูกค้าหวงข้อมูล ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ถ้าเป็นเรื่องเงินลูกค้าจะรู้สึกหวงข้อมูลของตัวเอง

การเข้ามาร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ทีม SCB10X จนมาถึง MONIX ถือว่าเข้ามาในสายธุรกิจมากขึ้น ได้โอกาสตั้งบริษัทเล็กๆ เสมือนสตาร์ตอัพขึ้นมา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างกับองค์กรใหญ่ ต้องได้สร้างทีมของตัวเอง คอยมองหาคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน เป็นประสบการณ์ใหม่ของชีวิตคนทำงาน นับว่า โชคดีที่มีทีมที่ดีเป็นกำไรในชีวิตที่ได้ร่วมงานกับคนเหล่านี้ เรียกว่า พร้อมที่จะ “Do or Die”“

นับตั้งแต่เริ่มสร้าง ห้าให้มันนี่ถิรนันท์บอกว่า มีอุปสรรคให้ต้องปรับตัวปรับใจอยู่เสมอ เพราะด้วยเป็นบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติตามแผนเดิมคือจะต้องมีทีมจากจีนเข้ามาร่วมงานในประเทศไทย แต่ก็ต้องเจออุปสรรคเพราะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้การเดินทางข้ามประเทศไม่สามารถทำได้ ทีมงานจากจีนจึงเข้ามาไม่ได้ตามแผน ซึ่งการที่ต้องทำงานแบบไม่ได้ลงในพื้นที่จริงก็ทำให้ด้านเทคนิคออกแบบผลิตภัณฑ์ค่อนข้างยาก

เมื่อมีอุปสรรคอันดับแรกคือปรับใจก่อนเลย และถือเป็นการได้พิสูจน์สปิริตและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างทีมงานในไทยและจีน เพราะทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อไม่เคยดีเลย์ไปจากแผนแม้จะมีอุปสรรคเมื่อฝั่งจีนมาไม่ได้เราก็สื่อสารข้ามประเทศให้ข้อมูลเสมือนอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลาซึ่งพอผ่านตรงนั้นมาได้ก็ยิ่งทำให้ทีมงานของเราแข็งแกร่งมากขึ้นไปด้วย

 

รุกตลาดผู้กู้รายได้น้อย

ช่วยหลุดวงจรหนี้นอกระบบ

ถิรนันท์เล่าว่า สำหรับเรื่องสินเชื่อเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะหากทำดีก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำไม่ดีผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย แต่เหตุผลที่เลือกทำสินเชื่อเพราะเป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่มองว่าจะช่วยคนที่ต้องการเงินได้ต่อลมหายใจให้เขา แม้ต่อให้ช่วยได้เพียงหนึ่งคนก็น่าภูมิใจเพราะหมายถึงได้ช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งแล้ว

โดย ห้าให้มันนี่ เริ่มต้นจากที่เห็นว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเช่นธนาคารได้ เพราะไม่มีหลักฐานทางการเงิน ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่ได้เป็นพนักงานออฟฟิศมีเงินเดือนประจำ ไม่มีหลักทรัพย์หรือ คนค้ำประกัน และธนาคารเองก็ไม่กล้าจะลงไปให้สินเชื่อในกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราสูง ยอมถูกทวงเงินที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

“MONIX พัฒนา ห้าให้มันนี่ ขึ้นมา เพราะอยากให้คนเอาเงินไปประกอบอาชีพ หรือถ้าจะเอาไปโปะหนี้นอกระบบแล้วเข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้องยิ่งดี โดยการให้สินเชื่อจะคงมีการคุมคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มที่จะเข้ามา เราเชื่อว่าบางคนแม้ไม่มีหลักฐานทางการเงินแต่ก็เป็นคนดีและพร้อมจ่ายคืน

ถิรนันท์บอกด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายของห้าให้มันนี่คือลูกค้าที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท เพราะรายได้มากกว่านั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการมุ่งเน้นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินธนาคารได้ยาก เพราะตั้งใจที่จะช่วยจริงๆ โดยตั้งวงเงินสินเชื่อไม่สูง โดยจำกัดวงเงินกู้ไว้ที่ไม่เกิน 100,000 บาท ตามเกณฑ์นาโนไฟแนนซ์

บางรายอาจจะเริ่มกู้ขั้นต่ำ 2,000 บาทก็มี ดูเหมือนน้อย แต่เงินเท่านี้ก็พอจะช่วยยามที่จำเป็นจริงๆ และจะมีค่างวดไม่มากให้ผ่อนได้นาน ไม่กระทบรายจ่ายแต่ละเดือน ดอกเบี้ยต่ำเพียง 3% ต่อเดือน หรือ 36% ต่อปี ลดต้น ลดดอก และด้วยที่เราใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถรู้ผลอนุมัติได้ภายใน 30 นาที

ถิรนันท์กล่าวว่า กลุ่มที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ธนาคารขนาดใหญ่ไม่กล้าเข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อ เนื่องมาจากเหตุผลด้านต้นทุนในการปฏิบัติงานที่สูงมาก ไม่คุ้มกับการที่จะเข้าไปแลกความเสี่ยง อีกทั้งธนาคารอาจจะมีข้อมูลของลูกค้าไม่เพียงพอ ไม่ทราบแหล่งรายได้ทั้งหมดของลูกค้า

แต่สำหรับบริษัทเล็กๆ ที่ใช้ดิจิทัลทั้งหมดจะมีต้นทุนในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้น้อยกว่า และมีโอกาสในการใช้งานด้านข้อมูลอื่นๆ ได้มากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาผสมกันก็เกิดเป็นโอกาส ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถควบคุมได้ง่าย หากได้รู้พฤติกรรมลูกค้าที่ให้สินเชื่อไปแล้ว ถ้ารายไหนมีวินัยจ่ายตรงตลอดเวลาก็ให้วงเงินเพิ่มได้ รายไหนให้แล้วไม่จ่ายคืนก็ปรับลดวงเงินลง

ตลาดสินเชื่อในกลุ่มนี้ไม่มีใครครองตลาดได้เจ้าเดียวอยู่แล้ว เพราะลูกค้าต้องการเงินเร็วหากให้ได้เร็วกว่า ลูกค้าก็จะเลือก ซึ่ง MONIX ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งในตลาด แต่อยากเป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้า

ถิรนันท์กล่าวว่า ในช่วงปีแรกยังเป็นการค้นหาสมการในการทำธุรกิจที่เหมาะสมว่าทำอย่างไรจะเข้าใจลูกค้าได้ เริ่มต้นจากฐานลูกค้าไทยพาณิชย์ก่อนแล้วจะขยายไปสู่ลูกค้าใหม่จริงๆ โดยเงินในการปล่อยสินเชื่อได้มาจากการกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์มาเป็นทุนเริ่มต้น และเมื่อผ่านไปปีที่สอง หากทำได้ตามแผนจะขยายไปในผลิตภัณฑ์ด้านอื่น เช่น การชำระเงินหรือออมเงินซึ่งมองไกลไปถึงระดับภูมิภาค

เป้าหมายของ MONIX คืออยากให้คนมองว่าเป็น Best Financial Friend Ever เป็นเพื่อนทางการเงินที่ดีที่สุด มาจากที่มักจะได้ยินว่า คุยทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเงิน แต่ในทางกลับกันถ้าอยากคุยเรื่องเงินก็มาหาเราเลยนึกถึงเรื่องเงินให้นึกถึงเราก่อน อยากจะเป็นแพลตฟอร์มทางการเงินที่จะเข้าไปอยู่ในชีวิตเขาแบบเพื่อนซี้

 

ติดตามคอลัมน์ People  ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ฉบับที่ 460 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi