INTERVIEW • PEOPLE

People : วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย

วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด

สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อความมั่งคั่ง

วางกลยุทธ์ให้องค์กรมั่นคง

 

ปีนี้นับเป็นปีที่หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกส่วนในฟากของตลาดเงินตลาดทุนเองก็เกิดความผันผวนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ดีหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายลง ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างทยอยกลับเข้าสู่โหมดปกติเพิ่มขึ้นซึ่งก็ได้เห็นการปรับทัพผู้บริหารในหลายบริษัท หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ที่ได้ วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ กลับมาเสริมทัพเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอีกครั้ง

 

เก็บประสบการณ์

ผ่านวิกฤติต่างยุค

ปัจจุบัน วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งถือเป็นผู้บริหารอีกคนที่คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรม บลจ.มาอย่างยาวนานถึง 17 ปี นับตั้งแต่จบการศึกษาระดับปริญญาโท

วจนะเล่าว่า ตนคลุกคลีอยู่กับการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน(ฟันด์เมเนเจอร์)มาโดยตลอดการทำงานที่ผ่านมา จนกระทั่งตัวเองรู้สึกอิ่มตัวและต้องการมองหาความท้าทายใหม่ๆ จึงเปลี่ยนบทบาทสู่งานด้านการบริหาร ซึ่งต้องมองภาพใหญ่ของการทำธุรกิจให้ออก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและตลาด ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมานานจึงหล่อหลอมให้ตนมีมุมมองในการทำงานที่มองได้กว้างและรอบด้านมากขึ้น

ธรรมชาติของการเป็นฟันด์เมเนเจอร์จะใช้เวลาอยู่กับตัวเองค่อนข้างมากเพื่อคิดวิเคราะห์ และวางแผนการลงทุนเป็นหลัก แต่ก็อาจจะมีพบปะกับผู้ลงทุนบ้างเป็นบางโอกาส ซึ่งเมื่อเปลี่ยนบทบาทสู่การเป็นผู้บริหาร แน่นอนว่าวิถีการทำงานก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย การพบปะผู้คนมีมากขึ้นทั้งผู้ลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ และที่สำคัญคือการเข้าถึงพนักงานในองค์กร เพราะเราต้องรับฟังความคิดเห็น และอาศัยความชำนาญของแต่ละฝ่ายงาน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนอยู่เสมอ

วจนะเล่าเสริมว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาตนได้ผ่านวิกฤตการณ์การลงทุนมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2549 ที่ตลาดหุ้นร่วงลงอย่างหนักจากมาตรการกันสำรองเงินทุนจากต่างประเทศ 30% รวมถึงวิกฤตซับไพร์มปี 2551 เป็นต้น ซึ่งในทุกวิกฤตตนก็สามารถบริหารกองทุนผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ด้วยดีทุกครั้ง

บทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตสอนให้เรารู้ว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่เรามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีนโยบายลงทุนเฉพาะภายในประเทศ ก็เริ่มที่จะมองเห็นโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ในประเทศไทยขึ้นมา เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังได้เริ่มตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองมากขึ้นเพื่อสามารถใช้ชีวิตให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ในวันข้างหน้าได้ โดยจะเห็นได้จากความสนใจในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในสมัยนั้น

 

โจทย์ท้าทายที่รอการพิชิต

ท่ามกลางจุดเปลี่ยนธุรกิจบลจ.

วจนะกล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมบลจ.ในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่ไม่เหมือนเมื่อก่อน โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันตัวเลขภาพรวมของอุตสาหกรรมบลจ.เติบโตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 6-7% ซึ่งเป็นการเติบโตจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เติบโตเพราะมีเม็ดเงินเข้ามาใหม่เหมือนในอดีต

สาเหตุหลักน่าจะมาจากจำนวนผู้ลงทุนในกองทุนรวมมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับผู้ลงทุนที่เคยตื่นตัวและแสวงหาผลกำไรในอดีตเริ่มอิ่มตัว ด้วยข้อจำกัดบางประการของกองทุนรวมที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นการลงทุนในหุ้น เป็นต้น ดังนั้น การแข่งขันทางธุรกิจของบลจ.ในปัจจุบัน จึงไม่ได้อยู่แค่การแข่งขันกันเองเฉพาะในธุรกิจเดียวกันอีกต่อไป แต่เราควรมองให้เป็นการแข่งขันบนความร่วมมือร่วมใจเพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมบลจ.เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย และท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก

อีก 1 ความท้าทายนั่นคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ จะไม่เป็นเรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะกองทุนรวมที่มีอยู่ในตลาดในเวลานี้ค่อนข้างมีให้เลือกหลากหลายและครบครันแล้ว ประกอบกับแต่ละบลจ.เองก็มีกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายคลึงกัน จึงมองหาความแตกต่างได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองจึงเป็นอีกความท้าทายของการเข้ามาดูแลสายงานวางแผนกลยุทธ์ให้กับบลจ.กสิกรไทย  

วจนะกล่าวว่า บทบาทหน้าที่ในภารกิจครั้งนี้ ตนจะต้องรับผิดชอบสองแกนหลัก ได้แก่ กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์องค์กร โดยในส่วนของกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากการดูแล ติดตาม ปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนรวมเดิมที่วางขายอยู่แล้วนั้น ตนจะต้องมุ่งสรรหาผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และสอดรับกับสถานการณ์การลงทุนไปในเวลาเดียวกันด้วย

ส่วนกลยุทธ์องค์กร จะเน้นสร้างความมั่นคงเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนที่ได้วางใจเลือกมาลงทุนกับกองทุนของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าสถานการณ์การลงทุนจะผันผวนรุนแรงแค่ไหน กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.กสิกรไทย ก็ไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะเดียวกันยังคงมีเสถียรภาพอยู่เสมอซึ่งถือเป็นข้อดีและต้องสานต่อในจุดนี้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปรับเปลี่ยน New Channel

ให้สอดรับNew Normal

วจนะกล่าวว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่ทุกบลจ.ต่างมุ่งพัฒนาช่องการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งในปัจจุบันการทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลของกสิกรไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70% ทั้งจากแอปพลิเคชัน K PLUS และ K-My Funds นอกจากนี้ ยังช่วยขยายฐานกลุ่มผู้ลงทุนหน้าใหม่ได้มากโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุน Gen Y และ Gen Z ที่เน้นความสะดวกสบาย และมีรูปแบบการใช้ชีวิตในแบบฉบับของตัวเองมากขึ้นไม่ลอกตามใคร ซึ่งสิ่งที่ชวนคิดต่อไปนั่นคือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้อยู่กับเราตลอดไป โดยที่มีความมั่งคั่งและมั่นคงผ่านกองทุนรวมได้ในระยะยาว

การพัฒนาช่องทางดิจิทัลจะสมบูรณ์แบบได้มากที่สุดนั้น มองว่าทุกฝ่ายงานต้องเห็นความสำคัญ พร้อมที่จะเรียนรู้ และมีเป้าหมายเดียวกันก่อน ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันยุทธศาสตร์นี้ให้กับทุกฝ่ายได้นำไปปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยทั้งหมดนี้จะสะท้อนออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดนั่นก็คือ ลูกค้า

 

สไตล์การทำงานส่วนตัว

ยึดหลักทุกฝ่ายต้อง WIN-WIN

วจนะกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสไตล์การทำงานโดยส่วนตัวจะยึดหลักการทำงานที่ว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องควรได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน
ทุกคนที่เกี่ยวข้องในที่นี้หมายถึงเจ้านาย ลูกน้อง ตลอดจนเพื่อนร่วมงานต้องได้รับประโยชน์จากการประสานงานบนความเข้าใจอันดีด้วยกันทุกฝ่าย หรือแม้แต่หากมองในฐานะขององค์กรเอง ก็ควรรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงผู้ถือหุ้นอย่างธนาคารกสิกรไทยเอง เพราะเชื่อว่าหากทุกฝ่ายได้รับสิ่งดีๆ จากเราก่อน สุดท้ายเราก็จะได้รับสิ่งดีๆ เหล่านั้นกลับมาเช่นกัน