INTERVIEW • YOUNG MILLIONAIRES

Young Millionaires : สุพิชญา สูรพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด

สุพิชญา สูรพันธุ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด

 

ผสาน Tech Startup กับ SME

ตั้งเป้า 4 ปี เข้าตลาด mai

 

“เป้าหมายของ NEVERSITUP คือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ภายใน 4 ปี เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และจะนำเงินทุนที่ระดมได้พาตัวเองก้าวไปสู่การเป็น International Company”

                       

ย้อนไปในปี 2014 เป็นช่วงเวลาที่วงการสตาร์ตอัพไทยกำลังเบ่งบาน มีเวทีประกวด บ่มเพาะ ผลักดัน จากหลายสถาบัน โดยเฉพาะ dtac Accelerate ที่ถือเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสตาร์ตอัพไทย เวทีนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นความฝันของ สุพิชญา สูรพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด ที่ขณะนั้นเป็นเพียงเด็กบัญชีจบใหม่ ที่มีใจอยากเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เธอหยิบเอาปัญหาใกล้ตัวอย่าง “ปัญหาการใช้บัตรเครดิตเกินตัว” ขึ้นมาสร้างเป็นธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ ด้วยแอปบริหารจัดการบัตรเครดิตที่มีชื่อจำง่ายว่า “Piggipo” (พิกกิโปะ)

เส้นทางธุรกิจของ “สุพิชญา” กับแอปพลิเคชั่น “Piggipo” ถือว่าน่าสนใจมาก มีจุดเปลี่ยนหลายครั้งหลายครา เผชิญความท้าทายหลากหลายรูปแบบ จนวันนี้กลายมาเป็นส่วนผสมของบริษัท NEVERSITUP แปลงมาจากคำว่า Never Give Up ซึ่งหมายถึงความไม่ยอมแพ้ แต่ motto นี้ไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่อง บทสัมภาษณ์นี้ จะเล่าย้อนไปถึงความฝัน ความพยายาม ความจริงที่ต้องยอมรับ และอนาคตที่น่าตื่นเต้นต่อจากนี้

 

กำเนิด Piggipo ฟินเทคสุดคิวบ์

จุดเริ่มต้นธุรกิจผสมคราบน้ำตา

สุพิชญา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า เริ่มสนใจธุรกิจสตาร์ตอัพตอนที่เรียนจบ ปริญญาตรีควบปริญญาโท ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นรู้ใจตัวเองแต่แรกแล้วว่าต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไร จนได้อ่านหนังสือชื่อ “บทเรียนธุรกิจร้อนๆ จาก Silicon Valley” ที่เขียนโดยเจ้าพ่อสตาร์ตอัพอย่าง “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล ทำให้เริ่มรู้จักธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ทุกคนมองว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก รู้ตัวอีกทีก็มีคำตอบในใจแล้วว่าเธอชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม และสิ่งนี้มักมาพร้อมกับธุรกิจเทคโนโลยี นั่นทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะสามารถทำอะไรกับธุรกิจนี้ได้บ้าง?

ทันทีที่เรียนจบ สุพิชญา ตัดสินใจที่จะไม่สมัครงาน และเลือกที่จะบอกกับที่บ้านตรงๆ ว่า “ขอตกงานอย่างน้อย 6 เดือนได้ไหม อยากลองเขียนแอปพลิเคชั่น หรือสร้างโปรดักต์ไอทีของตัวเองดูสักตั้ง” แม้เรื่องนี้จะผ่านไปได้ แต่กำแพงต่อไปที่เธอต้องเจอคือ “การใช้ภาษาคอมพิวเตอร์” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่จริงแล้วตอนนั้นเธอยังเป็นเพียงเด็กบัญชีจบใหม่หัวใจเทคโนโลยีเท่านั้น ห่างไกลกับโลกของ Developer และ Programmer มากนัก เธอตัดสินใจเข้าเรียนคอร์สเขียนแอปพลิเคชั่นแบบออนไลน์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ โดยภาษาแรกที่เธอหัดคือ Objective C ที่ใช้พัฒนา iOS แอปพลิเคชั่น

“ตอนนั้นร้องไห้เกือบทุกวัน เพราะการเขียนโค้ดเหมือนการเขียนภาษาต่างดาว คิดว่าภาษากฎหมายยากแล้ว ภาษาคอมพิวเตอร์ยิ่งยากกว่า เพราะไม่มีพื้นฐานด้านนี้มา แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ถ้าทำไม่ได้ก็ไปต่อไม่ได้ ก็เลยมีทางเดียวคือต้องสู้ต่อ”

สุพิชญาบอกว่า แอปพลิเคชั่น “Piggipo” เวอร์ชั่น Prototype เกิดขึ้นมาบนโลกเพราะเธออยากมีเครื่องมือมาช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตของตัวเอง และเธอคิดว่าน่าจะทำไม่ยาก นั่นจึงทำให้เวอร์ชั่น Prototype Piggipo เป็นแอปฯที่มีอินเทอร์เฟซธรรมดาๆ มุมมองแบบ Table View ฟังก์ชั่นต่างๆ คิดจากความต้องการของตัวเองเป็นหลัก

จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ dtac Accelerate batch 2 ที่ขณะนั้น “กระทิง” ซึ่งเป็นไอดอล เข้ามาทำหน้าที่เป็น Director ของ dtac Accelerate พอดี จากนั้นเธอก็เริ่มหาทางปรับปรุงแอปฯ Piggipo เพราะรู้ว่า ถ้าจะ Scale ออกไปเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้วยเวอร์ชั่น Prototype ที่มีอยู่คงเป็นไปไม่ได้ จึงเริ่มมองหาหุ้นส่วนเข้ามาร่วม โดยเธอไปร่วมอีเวนธ์ที่รวมนักพัฒนาหลายๆ ที่ จนเริ่มรู้จักคนในวงการมากขึ้น ในที่สุดก็ได้ CTO และ COO เข้ามาร่วมทีม และเข้าไปสมัครร่วมโครงการ dtac Accelerate จนพาทีม Piggipo เป็น 1 ในผู้ชนะเลิศของโครงการ รับเงินลงทุน 500,000 บาทจาก dtac และ 1,500,000 บาท จาก Ookbee พร้อมไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์สำคัญที่ Silicon Valley

สุพิชญา ใช้เงินลงทุนก้อนแรกเพื่อเพิ่มทีมงาน จากเดิมที่มี 3 คน ขยายเป็น 5 คนและลุยธุรกิจเต็มตัว จนในที่สุดก็เผชิญกับความจริงที่ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับแอปฯ Piggipo”

เธอยอมรับว่า อินไซด์สำคัญที่จะทำให้คนต้องการเครื่องมือในการบริหารจัดการบัตรเครดิตคือ “ความกังวลที่ต้องเป็นหนี้” ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลที่เธอพยายามสร้าง Piggipo ขึ้นมา แต่ความจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่กลัวการเป็นหนี้ ซึ่งสิ่งที่ยากจะยอมรับก็คือ ผู้ใช้ Piggipo เป็น Niche Market จากเดิมที่เคยคิดว่าเป็น Mass Market

“เราเปิดระดมทุนอีกรอบตอนปี 2016 ได้เงินลงทุนประมาณ 11 ล้านบาท ด้วยความตั้งใจจะเพิ่มยอดผู้ใช้ จึงใช้เงินไปกับการทำการตลาด การเพิ่มคน จนปลายปี 2017 เงินก็หมด พอจะเปิดระดมทุนอีกรอบ ก็เริ่มมีคำถามถึงผลกำไรจากการทำธุรกิจ การเติบโตของจำนวนผู้ใช้”

 

แก้เกมด้วยธุรกิจ Software House

ใช้โมเดลสตาร์ตอัพ สร้างจุดแข็ง

สุพิชญา เปิดใจว่า เวลานั้นรายได้หลักของ NEVERSITUP ยังอยู่แค่หลัก 20,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น เมื่อเงินทุนหมด และไม่สามารถระดมทุนเพิ่มได้ ทำให้ต้องติดสินใจถามผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 2 คนว่า “อยากปิดบริษัทหรือไม่?” ก่อนจะได้คำตอบที่ตรงกันว่า ทั้ง 3 คนจะสู้ต่อ

แต่การสู้ครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของความจริงที่ว่า แม้ Piggipo จะเป็นโปรดักต์ที่ดี สามารถช่วยคนได้ แต่ไม่ใช่ Success Fast ที่ใช้เวลา 3 ปีแล้วจะชนะในเกมนี้ ต่อให้มีเงินทุนมากกว่านี้ก็ตาม

“เราคุยกันว่า ถ้าไม่อยากปิด Piggipo แต่เรารู้ว่า Piggipo จะไม่ Success ใน 1-2 ปีจากนี้แน่ๆ เราก็ต้องหาอะไรทำเพื่อเลี้ยงตัวเองควบคู่ไปด้วย ทำให้กลับมาย้อนดูตัวเองว่ามีทรัพยากรอะไรบ้าง จึงพบว่า Piggipo มีทีมงาน Business เพียง 2 คน ที่เหลือเป็น Developer ทั้งหมด เราจึงเห็นโอกาสในการผันตัวเป็น Software House ที่รับจ้างพัฒนาแอปฯให้กับบริษัทต่างๆ ส่วน Piggipo จะพักไว้ก่อน”

งานแรกของ NEVERSITUP เริ่มจากการพัฒนา “แอปป๋า” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Digital Lending ในเครือเจมาร์ท หลังจากนั้นก็เริ่มมีบริษัทหลายแห่งเข้ามาเป็นลูกค้า เช่น ธนาคารทิสโก้, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, บริษัท หลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์, ซุปเปอร์ริช, โตโยต้า, ฟูจิตสึ, nocnoc

สุพิชญาเผยว่า มี 2 เหตุผลที่องค์กรธุรกิจเลือกใช้บริการของ NEVERSITUP คือ 1. มีความเชื่อมั่นจากประสบการณ์ในการพัฒนาแอปฯ Piggipo ซึ่งมียอดดาวน์โหลดถึง 300,000 ดาวน์โหลด 2. การใส่ DNA ของสตาร์ตอัพเข้าไปในธุรกิจ Software House เป็นความพยายามที่จะช่วยให้บริษัทใหญ่สามารถทำโปรดักต์ให้ออกมาได้เร็วเหมือนกับสตาร์ตอัพ

 “เราเหมือนคนจมน้ำที่พยายามเอาตัวรอด เรารับทุกอย่าง ทำทุกงาน และทำให้ออกมาดีที่สุด จากบริษัทที่ละลายเงินอย่างเดียว มีรายได้แค่ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน พอเริ่มทำ Software House ก็เริ่มมีรายได้แตะหลักล้านบาท ถ้าพูดว่านี่คือธุรกิจ SME ก็ถือว่าใช่ และเราเรียนรู้มาตลอดทาง แม้ไม่สามารถบอกได้ว่าทางนี้ถูกไหม แต่ในแง่ของรายได้ก็ถือว่าเลี้ยงตัวเองได้ และถ้าวันนั้นไม่ปรับตัว NEVERSITUP ก็คงไม่อยู่มาถึงวันนี้”

 

ฝัน-พยายาม-ความจริง

กุญแจพาธุรกิจสู่ความสำเร็จ

สุพิชญา เปิดใจว่า บทเรียนสำคัญบนเส้นทางธุรกิจสตาร์ตอัพคือการมี “หลักการดำเนินธุรกิจ” เธอค้นพบสิ่งนี้จากการอ่านหนังสือที่ชื่อว่า PRINCIPLES ของ Ray Dalio ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จะบอก 3 ข้อสำคัญในการทำสิ่งใดก็ตามในชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเธอยอมรับตรงๆ ว่าขณะนั้น เธอมีไม่ครบ

เรื่องแรกคือ การมีความฝัน แน่นอนว่าเธออยากให้แอปฯ Piggipo เติบโตไปเป็นยูนิคอร์นมากกว่าใครทั้งหมด ต่อมาคือ ความพยายาม เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอมีเต็มร้อย ไม่น้อยไปกว่าสตาร์ตอัพชื่อดังอื่นๆ แม้กระทั่งชื่อบริษัท NEVERSITUP ก็มาจากคำว่า Never Give Up ที่แปลว่าไม่ยอมแพ้ แต่เรื่องที่เธอขาดไป และเป็นส่วนสำคัญก็คือ ความเป็นจริง เพราะในช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจ เธอมองโลกในแง่ดีแบบ “ทุกอย่างสามารถทำได้” แต่ในการทำธุรกิจสิ่งสำคัญคือ “สายตาที่ต้องมองโลกตามความเป็นจริง”

 เธออธิบายว่า การมองโลกตามความเป็นจริง ทำให้การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทำได้ถูกต้องมากกว่าผิดพลาด เมื่อตัดสินใจได้ถูกต้องบ่อยครั้งธุรกิจก็จะโต หากตัดสินใจผิดบ่อยครั้งธุรกิจก็ล้มเหลว และสิ่งที่ขัดขวางหรือบิดเบือนความเป็นจริงนั้นก็คือ อีโก้ (ego) และ จุดบอดที่ถูกมองข้าม (Blindspot) ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดปฏิเสธความจริง

           

เปิดตัว Laft แอปฯปาร์ตี้แชตใหม่

ตั้งเป้า 4 ปี เข้าตลาด mai

สุพิชญา บอกว่า ปัจจุบัน NEVERSITUP แยกธุรกิจแบ่งทีมเป็นฝั่ง Software House และสตาร์ตอัพชัดเจน โดยฝั่งธุรกิจ Software House จะค่อยๆ ขยายตัว เพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อรองรับลูกค้าให้มากขึ้น ส่วนฝั่งธุรกิจสตาร์ตอัพนั้น จะยังมี Piggipo ที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งวันนี้เธอไม่ได้สนใจแล้วว่า Piggipo จะเป็นสตาร์ตอัพหรือ SME เพราะเป้าหมายของ Piggipo คือ ต้องการช่วยคนที่มีปัญหาด้านบัตรเครดิตให้ได้มากที่สุด โดยที่ตัวเองค่อยๆ เติบโตไป

นอกจากนี้ ฝั่งธุรกิจสตาร์ตอัพยังมีการพัฒนาแอปฯปาร์ตี้แชตน้องใหม่ชื่อว่า “Laft” โดยจับกลุ่มผู้ใช้วัยทำงาน เช่น สาวโรงงาน, พนักงานร้าน, คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ที่ต้องการมีคอมมูนิตี้ หรือหาเพื่อนคุย โดยจุดเด่นของ Laft คือ การสนทนากันแบบปาร์ตี้ ได้ทั้งแบบเสียงและแชต ผู้ใช้สามารถสร้างและตกแต่งตัวละครในแบบที่ชอบ และส่งของขวัญให้กันได้ มีการเก็บสะสมค่าประสบการณ์เพื่อรับรางวัลในแอปฯ ปัจจุบันเปิดให้บริการบนระบบ Android โดยมี Active User ราว 5,000 คนต่อเดือน หลังจากเปิดตัวได้เพียง 45 วัน

“Laft นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสตาร์ตอัพ เราเลือกทำในตลาดใหญ่ ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง Niche หรือ Mass เหมือนฟินเทค ไอเดียเริ่มต้นทุกอย่างคิดแบบ Mass ทั้งหมด เพราะเป้าหมายของ Laft คือการเติบโตแบบสตาร์ตอัพ”

สุพิชญาเผยว่า ในปี 2023 NEVERSITUP ตั้งเป้าที่จะโตระดับ 200% พร้อมขยายทัพนักพัฒนาจาก 40 คนเป็น 80 คน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญคือการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ให้ได้ภายใน 4 ปีข้างหน้า รวมถึงยังมีความสนใจที่จะเข้าระดมทุนบนกระดานเทรดใหม่อย่าง Live Exchange ด้วย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาในหลายตัวเลือก

“เป้าหมายของ NEVERSITUP คือ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ภายใน 4 ปี เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และจะนำเงินทุนที่ระดมได้พาตัวเองก้าวไปสู่การเป็น International Company โดยจะเป็นบริษัทที่ผสมผสานระหว่างความเป็น SME กับสตาร์ตอัพ มีธุรกิจ Software House ที่โตแบบ Linear เป็นฐาน ฝั่งสตาร์ตอัพก็จะพัฒนาแอปฯที่สามารถเป็น S-Curve และเติบโตอย่างรวดเร็วในแบบสตาร์ตอัพได้”

โดยสิ่งสำคัญที่จะพา NEVERSITUP ก้าวไปเป็น International Company ได้นั้นคือ การเปลี่ยนโพสิชั่นของธุรกิจ Software House ไปเป็น Tech Outsource ที่มีพนักงานหลายเชื้อชาติพร้อมทำงานให้กับองค์กรธุรกิจทั่วโลก